นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และโฆษกกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ (GAP ฟาร์มไก่ไข่) มีขนาดการเลี้ยงตั้งแต่ 1,000 ตัวขึ้นไป จะมีผลบังคับใช้ จากที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยได้มีการบังคับใช้มาตรฐาน GAP ฟาร์มไก่ไข่ สำหรับผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ ที่มีขนาดการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไปมาแล้ว
ทั้งนี้ มาตรฐาน GAP ฟาร์มไก่ไข่ภาคบังคับ กำหนดขึ้นโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการออกใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตตามมาตรฐานบังคับและ มกอช. ได้มอบหมายภารกิจในการออกใบอนุญาตฯ ให้แก่กรมปศุสัตว์ที่มีหน้าที่ออกใบรับรองมาตรฐาน GAP
สำหรับฟาร์มไก่ไข่ขนาดกลางและเล็ก ที่มีขนาดการเลี้ยง 1,000 – 9,999 ตัว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอที่จะยกเว้น ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตและใบรับรอง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ยืนยันการเสนอ ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักการ เพื่อยกเว้นฟาร์มไก่ไข่ขนาดระหว่าง 1,000 – 9,999 ตัว ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตและใบรับรอง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการบรรจุเข้าวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรีแล้ว และสำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ไข่น้อยกว่า 1,000 ตัว มีจำนวน 125,972 ราย ไม่อยู่ภายใต้การบังคับของมาตรฐานฟาร์ม GAP ดังกล่าว กรมปศุสัตว์จะมีการส่งเสริมให้เข้าสู่มาตรฐานทางเลือก เช่น ปศุสัตว์อินทรีย์ หรือฟาร์มไก่ไข่เลี้ยงปล่อยอิสระต่อไป
การที่เกษตรกรได้รับรองมาตรฐาน GAP นี้ จะสามารถยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของไข่ไก่ที่ผลิตจากฟาร์มได้ มีสุขอนามัยการผลิตที่ดี ลดความเสี่ยงของโรคระบาดและโรคสัตว์ติดคนและการปนเปื้อนสารตกค้าง อยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเป็นที่ยอมรับในตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ
#ฟาร์มไก่ไข่