IMF ประเมินเศรษฐกิจไทยเติบโต้ช้ากว่าเพื่อนบ้าน ทั้งมีแนวโน้ม ‘เสี่ยงขาลง’

21 กุมภาพันธ์ 2568, 12:10น.


          คณะกรรมการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยผลการประชุมหารือกับประเทศไทยประจำปี 2567 หรือ Article IV Consultation โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ในอัตราที่ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวได้ปานกลางที่ร้อยละ 1.9 ในปี 2566 และร้อยละ 2.3 ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับร้อยละ 0.4 ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ร้อยละ 1- 3 โดยมีปัจจัยภายนอก เช่น ราคาพลังงานและอาหารทั่วโลกที่ลดลง รวมถึงราคาสินค้านำเข้าที่ลดลงมีส่วนช่วย ร่วมด้วยปัจจัยในประเทศ เช่น การอุดหนุนราคาพลังงาน การควบคุมราคา และการยกเลิกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินจากการระบาดของโควิด ก็มีส่วนทำให้เงินเฟ้อลดลงเช่นกัน



          ดุลบัญชีเดินสะพัดแข็งแกร่งขึ้นเป็นร้อยละ 1.4 ของ GDP ในปี 2566 จากที่เคยติดลบร้อยละ 3.5 ในปี 2565 และยังคงมีดุลบัญชีเกินดุลปานกลางจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2567



          คาดว่าจีดีพีที่แท้จริงจะเติบโตร้อยละ 2.7 ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.9 ในปี 2568 จากการใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวในงบประมาณปี 2568 อัตราเงินเฟ้อจะฟื้นตัวขึ้น แต่ยังคงอยู่ในครึ่งล่างของกรอบเป้าหมายในปี 2568 ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นต่อทั้งในปี 2567 และ 2568 จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว



          IMF ประเมินว่า "แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเป็นความเสี่ยงขาลง" เนื่องจากความตึงเครียดด้านการค้าโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น อาจขัดขวางการฟื้นตัวของการส่งออก และส่งผลให้การไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ลดลง ส่วนปัจจัยในประเทศยังเป็นเรื่องของหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น



          คณะกรรมการบริหารของไอเอ็มเอฟ ให้การรับรองการประเมินของเจ้าหน้าที่ ในเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงดำเนินต่อไป แต่ค่อนข้างช้าและไม่สม่ำเสมอ มีการฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เนื่องจากจุดอ่อนเชิงโครงสร้างของไทย ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงภายนอกและภายในประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ยังส่งผลให้เงินเฟ้อลดลง แนวโน้มของประเทศไทยจึงยังมีความไม่แน่นอนอย่างมาก จึงแนะนำให้สร้างพื้นที่ทางการคลังใหม่ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2569 เป็นต้นไป จำเป็นต้องมีการปรับใช้นโยบายการคลังแบบสมดุลในระยะปานกลางตามรายได้ เพื่อช่วยลดหนี้สาธารณะและสร้างกันชนทางการคลังขึ้นใหม่ ประเทศไทยสามารถปรับกรอบวินัยทางการคลังให้แข็งแกร่งได้มากกว่านี้เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการควบคุมระดับหนี้ให้ดีขึ้น



          ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ยังคงอยู่ในแนวโน้มเศรษฐกิจ ภาครัฐควรเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินตามข้อมูลและแนวโน้มเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ การรักษาความเป็นอิสระของธนาคารกลางควบคู่กับการสื่อสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินนโยบาย ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพของนโยบายการเงินในการกำหนดกรอบเงินเฟ้อ



...



อ่านฉบับเต็ม https://www.imf.org/en/Publications/CR/Issues/2025/02/20/Thailand-2024-Article-IV-Consultation-Press-Release-Staff-Report-and-Statement-by-the-562284



#ไอเอ็มเอฟ



#เศรษฐกิจไทย

ข่าวทั้งหมด

X