อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในเดือนมกราคม อยู่ที่ร้อยละ 4 เทียบตัวเลขรายปี เพิ่มจากร้อยละ 3.6 ในเดือนธันวาคม 2567 เพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า จะทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ เนื่องจากเป็นระยะเวลา 34 เดือนติดต่อกันที่ตัวเลขเงินเฟ้อสูงเกินเป้าที่ BOJ ตั้งไว้ที่ร้อยละ 2
สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (core CPI) ไม่รวมราคาอาหารสด ขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 3.2 ในเดือนมกราคมจากร้อยละ 3 ในเดือนธันวาคม 2567 และสูงเกินคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คือ ร้อยละ 3.1 นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566
ดัชนี Core-Core CPI ไม่รวมราคาเชื้อเพลิงและราคาอาหารสด และเป็นข้อมูลที่ BOJ กำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิดเนื่องจากเป็นตัวชี้วัดแนวโน้มเงินเฟ้อในวงกว้าง ปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.5 ในเดือนมกราคม จากร้อยละ 2.4 ในเดือนธันวาคม 2567 ขณะเดียวกัน เงินเยนแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.15 ซื้อขายที่ 149.39 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ในเดือนมกราคม BOJ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ร้อยละ 0.5 จากร้อยละ 0.25 สะท้อนให้เห็นว่า BOJ เชื่อมั่นความคืบหน้าในการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย ร้อยละ 2 ซึ่งนายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ พูดเป็นนัยว่า BOJ พร้อมจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก ถ้ามีการปรับเพิ่มค่าแรง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการบริโภคของภาคครัวเรือน ทั้งจะทำให้บริษัทต่างๆสามารถจะปรับราคาสินค้าต่างๆสูงขึ้นด้วย สำหรับการประชุม BOJ ครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 19 มีนาคมนี้
...
#เศรษฐกิจญี่ปุ่น