นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยการระบาดของโรคประจำฤดูกาล โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ใน 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ดูแลของเขตสุขภาพที่ 9 มีผู้ป่วยสะสมพุ่งสูงเป็น 6,938 ราย และปีนี้มีผู้เสียชีวิตสะสมแล้ว 3 ราย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 - 10 กุมภาพันธ์ 2568
จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วยมากสุด 3,719 ราย มีผู้เสียชีวิต 3 ราย
รองลงมาคือ จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 1,753 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 800 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 666 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในกลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ เด็กอายุ 4 ปี และ อายุ 3 ปี ตามลำดับ
ส่วนสถานการณ์การระบาดโรคไข้เลือดออก พบผู้ป่วยลดลง โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 12 กุมภาพันธ์ 2568 พบรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 3,550 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 5.37 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา 4.8 เท่า กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงสุดยังคงเป็นกลุ่มเด็กวัยเรียน คือ กลุ่มอายุ 5-14 ปี รองลงมาคือ 15-24 ปี และพบผู้ป่วยสูงทางภาคใต้ โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยสุดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา พัทลุง และนราธิวาส ตามลำดับ ในส่วนของผู้เสียชีวิตพบว่า มีผู้เสียชีวิต 5 ราย เฉลี่ยอยู่ที่สัปดาห์ละ 1 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ โดยปัจจัยเสียชีวิตหลักยังคงเป็นภาวะอ้วน และการได้รับยากลุ่ม NSAIDs
ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และเข้ารับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากอยู่ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก ควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายได้ในทุกเพศทุกวัย และมักเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในสถานที่ต่างๆ เช่น โรงเรียน เรือนจำ ค่ายทหาร หรือสถานที่ทำงาน
ส่วนการระบาดโรคไข้เลือดออกถึงแม้สถานการณ์การระบาดจะลดน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา แต่ประชาชนต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะพี่น้องชาวใต้ ซึ่งปัจจุบันพบการระบาดในหลายจังหวัด
....
ภาพ istock
#ไข้หวัดใหญ่
#สาธารณสุข
#ทำเนียบรัฐบาล