ส่งออกไทยเดือนม.ค.68 พุ่งร้อยละ 13.6 ส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์สูงสุด ร้อยละ 852.2

วันนี้, 15:30น.


          การส่งออกไทยในเดือนมกราคม 2568 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงว่า การส่งออกไทยเดือน ม.ค.2568 มีมูลค่า 25,277 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 27,157.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.9 ส่งผลให้ในเดือน ม.ค.2568 ไทยขาดดุลการค้า 1,880.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ



          ทั้งนี้ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกไทยในเดือน ม.ค.2568 มีมูลค่า 21,969.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ11.4  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน



          เมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออกสินค้าในเดือน ม.ค.2568 แยกเป็นกลุ่มสินค้าพบว่า การส่งออกสินค้าเกษตร มีมูลค่า 2,027.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.2 ซึ่งหดตัวครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ,การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่า 1,698.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว ร้อยละ 3 ขยายตัว 7 เดือนต่อเนื่อง และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 20,695.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 17 ซึ่งเป็นการขยายตัว 10 เดือนต่อเนื่อง



          การส่งออกสินค้าเกษตรที่หดตัวร้อยละ 2.2 นั้น มาจากการส่งออกข้าวที่หดตัวร้อยละ32.4 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน,การส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง หดตัวร้อยละ 11และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังหดตัวร้อยละ 7.9 ในขณะที่การส่งออกยางพารา มีมูลค่า 475.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 45.5ขยายตัว 15 เดือนต่อเนื่อง และการส่งออกไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป มีมูลค่า 384.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว ร้อยละ 12.3 ซึ่งเป็นการขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง



         ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกในเดือน ม.ค.2568 ได้แก่ 1.อุปสงค์ต่างประเทศที่เร่งตัวจากความกังวลประเด็นสงครามการค้า โดยเฉพาะสหรัฐและจีน 2.ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่เติบโตต่อเนื่อง 3.สัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิตโลกที่กลับมาอยู่ในภาวะขยายตัวในเดือน ม.ค.2568 และ4.การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและธุรกิจร้านอาหารหนุนความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร



         ส่วนปัจจัยกดดันการส่งออกในเดือน ม.ค.2568 ได้แก่ 1.การหดตัวของการส่งออกสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ เช่น ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และน้ำตาล ที่มีสัดส่วนคิดเป็น 22.7% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และ 2.การส่งออกรถยนต์สันดาปภายไปยังตลาดหลักยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง ตามความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด



          ผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับประเทศต่างๆ“ความกังวลเรื่องสงครามการค้า นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้ระบุว่า จะใช้กับทุกประเทศ หรือจะเลือกเป็นบางสินค้า และจากความไม่แน่นอนดังกล่าว จึงทำให้มีการสั่งซื้อสินค้าในช่วงนี้เยอะพอสมควร  สนค.คาดว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ การส่งออกของไทยจะเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสที่ตัวเลขการส่งออกไตรมาส 1/2568 จะขยายตัวได้สองหลัก ส่วนทั้งปี 2568 คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวที่ร้อยละ2-3



          สำหรับตลาดส่งออกของไทย ที่เพิ่มสูงสุด 5 อันดับแรก คือ



+++สวิตเซอร์แลนด์ ร้อยละ 852.2



+++เอเชียใต้ ร้อยละ 111.5



+++สหรัฐ ร้อยละ 22.4



+++ลาตินอเมริกา ร้อยละ 21.6



+++แอฟริกาใต้ ร้อยละ 13.9



           ส่วนการส่งออกไปจีน อยู่ในอันดับที่ 7 ร้อยละ 13.2 และ กลุ่มอาเซียนส่งออกเป็นอันดับที่ 10 ร้อยะ 4.8





 

ข่าวทั้งหมด

X