หลังจาก เพจเฟซบุ๊ก “ที่นี่สมุทรปราการ” เมื่อวันศุกร์ (7 มี.ค. 68) พบวาฬบรูด้าเกยตื้นจาก วาฬบรูด้าตัวดังกล่าวเป็นเพศเมีย วัยรุ่น อายุไม่เกิน 3 ปี ตายมาแล้วประมาณ 3 วัน สภาพซากเน่า ผิวหนังหลุดลอก ในวันนี้ (9 มี.ค. 68) ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน (ศวทบ.) ร่วมกับเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน, เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสมุทรปราการ, กรมประมง, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และอาสาสมัคร ร่วมลงพื้นที่ชันสูตรซาก “วาฬบรูด้า” (Bryde's whale: Balaenoptera edeni)
สัตวแพทย์จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยผลจากการชันสูตรพบว่า “วาฬบรูด้า” มีความสมบูรณ์ของร่างกายดี (Body Condition Score 3/5) ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง 3-4.5 เซนติเมตร บาดแผลเป็นรอยตัดลึกบริเวณกรามบน กรามล่าง ท้ายทอย และคางด้านขวา ส่งผลให้กระดูกบริเวณปลายกรามบน และกรามล่างทั้งสองข้างหัก (Complete Transverse Fracture) กะโหลกด้านซ้ายแตก และส่วนปลายของสะบักซ้ายเป็นรอยตัดจากของมีคมที่ผิวหนัง ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นรอยตัดจากการถูกของแข็งรอบแรงเหวี่ยงสูง ซึ่งเนื้อเยื่อโดยรอบบริเวณดังกล่าวเป็นรอยช้ำ คั่งเลือด เป็นวงกว้าง และด้านหลังบริเวณลำตัว มีรอยช้ำขนาด 160 ซม.
ส่วนระบบทางเดินหายใจพบการคั่งเลือดที่ปอดซ้ายอย่างรุนแรง และมีเลือดออกในเยื่อหุ้มปอด ส่วนระบบหัวใจและหลอดเลือดพบลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดง Aorta เล็กน้อย ลิ้นหัวใจปกติ ขณะที่ระบบทางเดินอาหารพบอาหารตลอดแนวลำไส้เล็กถึงลำไส้ส่วนท้ายและไม่พบสิ่งแปลกปลอมในระบบทางเดินอาหาร อวัยวะภายในอื่น ๆ ตับ ม้าม ไต ตับอ่อน และระบบสืบพันธุ์เน่าสลาย
สรุปสาเหตุการตายเกิดจากการถูกของแข็งรอบแรงเหวี่ยงสูงกระแทกโดยตรง และเกิดการเสียเลือดปริมาณมากอย่างรวดเร็ว และเกิดภาวะช็อกจากการสูญเสียเลือดและเจ็บปวดอย่างรุนแรง
หลังจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่จะนำโครงกระดูกวาฬบรูด้าดังกล่าวมาเก็บรักษาไว้ ณ อาคารจัดแสดงโครงกระดูกวาฬบรูด้าและนิทรรศการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สัตว์ทะเลหายากในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนต่อไป
#ซากวาฬบรูด้า
#เกยตื้น