สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานการจับกุมผู้ค้าบุหรี่ไฟฟ้า และตรวจยึดอย่างต่อเนื่องกว่า 2 สัปดาห์ คือระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2568 ได้รับแจ้ง 839 เรื่อง จับกุมและดำเนินคดี 1,078 คดี จำนวนผู้ต้องหา 1,104 คน จำนวนของกลาง 900,444 ชิ้น มูลค่าของกลาง จำนวน 118,953,915 บาท ยอดคดีที่จับกุมมีจำนวนเกือบเทียบเท่าการปราบปรามตลอดปี 2567
ทั้งนี้ การขายบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการ ที่ 24/2567 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 เรื่อง ห้ามผลิตเพื่อขาย ห้ามขายหรือให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่หรือบุหรี่ไฟฟ้า
โดยในการประชุมหารือมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ครั้งที่ 3 พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 20 หน่วยงาน ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุมได้กำหนดให้มีความร่วมมือตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านการปราบปรามโดยการบังคับใช้กฎหมาย ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า และยุทธศาสตร์ที่ 3 การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าให้มีความครอบคลุมทั้งระบบ รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเตรียมยกระดับการแจ้งเบาะแสการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำมาใช้งานได้เร็วๆ นี้
ส่วนการยาสูบแห่งประเทศไทย มีการประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหาการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ผิดกฎหมายและบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วน เน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงการควบคุมบุหรี่ผ่านแดนเพื่อลดช่องทางการลักลอบนำเข้า และปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน ซึ่งพบว่ามีการจำหน่ายใกล้สถานศึกษาจำนวนมาก โดยจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและจับกุมร้านค้าที่ละเมิดกฎหมาย พร้อมหารือแนวทางการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าผ่านมาตรการภาษี เพื่อลดการเข้าถึงของเยาวชน
...
แฟ้มภาพ
#ปราบบุหรี่ไฟฟ้า
#สำนักงานตำรวจแห่งชาติ