การชุมนุมและการนำปลาหมอคางดำ 2 รถกระบะ ไปเทที่ทำเนียบรัฐบาลนายสมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระ เปิดข้อมูล นานาชาติแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำได้อย่างไร หลายประเทศทั่วโลกที่เคยเผชิญกับปัญหานี้ และประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron) ดังนี้ :
1. สหรัฐอเมริกา ในฟลอริดา พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวปลาเหล่านี้คิดเป็นประมาณ 90% ของสัตว์น้ำทั้งหมดในแหล่งน้ำธรรมชาติของรัฐ ขณะที่ในฮาวายมีการนำปลาหมอคางดำเข้ามาในปี พ.ศ. 2505 เพื่อใช้เป็นปลาเหยื่อสำหรับปลาทูน่า แต่ปลาหมอคางดำกลับหลุดรอดและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว
วิธีการแก้ปัญหาของสหรัฐฯ คือการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่กระจายโดยการใช้มาตรการทางชีวภาพ เช่น การจัดการแหล่งน้ำ การใช้ไฟฟ้าช็อตปลา นอกจากนี้ยังมีการนำปลาหมอคางดำไปทำลายหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ปลาป่น อาหารสัตว์ หรืออาหารมนุษย์ โดยบางกลุ่มชาวพื้นเมืองก็ใช้ปลานี้ในการทำอาหาร เช่น ย่าง ทอด หรือทำซุปปลา
2. ฟิลิปปินส์ พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในปี 2558 จากการหลุดรอดปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะในอ่าวมะนิลา ซึ่งส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำประจำถิ่นและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รัฐบาลฟิลิปปินส์มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงการนำปลาหมอคางดำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น อาหารกระป๋อง และขายในตลาดสดหรือร้านอาหารพื้นเมือง
3. สเปนและโปรตุเกส ทั้งสองประเทศพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ หน่วยงานในทั้งสองประเทศได้ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจับปลาและตกปลาเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของสายพันธุ์รุกราน และยังนำปลาหมอคางดำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของอาหารทะเล
4. อินโดนีเซีย มีการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ เกิดจากการนำเข้าหรือการลักลอบนำเข้าเพื่อการประมงและการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่ไม่รุนแรงเหมือนประเทศอื่นๆ กระทรวงกิจการทางทะเลและประมงของอินโดนีเซียได้ดำเนินการป้องกันและตรวจสอบอย่างเข้มงวด
5. ประเทศไทย เริ่มพบปลาหมอคางดำครั้งแรกในปี พ.ศ. 2555 และการแพร่ระบาดขยายไป 16 จังหวัดในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ รัฐบาลไทยมีมาตรการหลายวิธีในการแก้ปัญหานี้ เช่น การจับปลาออกจากแหล่งน้ำ การปล่อยปลาผู้ล่า การพัฒนาเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ และการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
สิ่งสำคัญ คือ ต้องให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำให้คุ้มค่าที่สุด ไม่ใช่แค่พยายามกำจัดมันอย่างเดียว โดยเฉพาะการใช้ปลาหมอคางดำในการผลิตอาหาร เช่น น้ำปลาร้า ปลาผง น้ำปลา ทอดมัน ลูกชิ้น หรือทำเป็นอาหารว่างต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างแรงจูงใจให้มีการจับปลาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
วันนี้สังคมไทยต้องพิจารณาการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน มากกว่ามองปลาหมอคางดำเป็น "ปลารุกราน" (Invasive Species) ซึ่งความจริง คือ ปลาชนิดนี้เป็นปลาตระกูลเดียวกับปลานิล เนื้อสามารถบริโภคได้มีโปรตีนเหมือนปลาทั่วไป และไขมันต่ำ ควรเปลี่ยนมุมมองไปให้ความสำคัญจากการใช้ประโยชน์จากปลามากขึ้น เพื่อความยั่งยืนในการจัดการและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
#ปลาหมอคางดำ