หลังการเข้าคุมตัว พ.อ.หญิง แพทย์หญิง 2 ตัวการสำคัญทุจริตยา โรงพยาบาลทหารผ่านศึก พบว่ามีผู้ร่วมขบวนการรวมทั้งสิ้น 12 ราย แบ่งเป็นออกหมายจับ 8 ราย อยู่ระหว่างเรียกมาแจ้งข้อหาอีก 4 ราย ยึดของกลางเงินสดอีก 10 ล้าน พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. ขอบคุณผู้แจ้งเบาะแสที่พบเห็นการทุจริตแล้วไม่นิ่งดูดาย ใช้ความรู้และทรัพย์สินส่วนตัวเก็บข้อมูลภาพคลิปหลักฐานทุกอย่าง ผบช.ก.จะมอบโล่ทำความดีเพื่อสังคมให้ สำหรับผู้ต้องหากลุ่มนี้ยังเป็นแค่กลุ่มแรกยังมีอีกหลายกลุ่มที่มีแผนประทุษกรรมแบบนี้เป็นขบวนการใหญ่ทำกันหลายที่หลายโรงพยาบาล หลังจากนี้จะต้องไปตามเช็กบิล ตอนนี้ตำรวจได้ข้อมูลจากกรมบัญชีกลางแล้ว กำลังตรวจสอบว่ามีใครเข้าข่ายความผิดอีก หากใครรู้ตัวมีส่วนเกี่ยวข้อง ให้รีบเข้าพบเจ้าหน้าที่ถ้าช้าจะถูกออกหมายจับ
ด้าน ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) เปิดเผยถึงการเข้าตรวจสอบร้านขายยาทั้ง 11 ร้าน ว่า มี 5 ร้านที่ดำเนินการถูกต้อง แต่อีก 6 ร้านมีความสุ่มเสี่ยงที่จะรับยามาจากแหล่งที่ไม่ถูกต้อง และขายยาโดยที่เภสัชกรไม่อยู่ อีกทั้งขายยาในกลุ่มที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ต้องตรวจสอบต่อว่ายาในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทนั้นนำมาจากที่ใด
ส่วน พล.อ.เดชนิธิศ เหลืองงามขำ ผอ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก กล่าวว่า ตั้งแต่รับตำแหน่ง เห็นความผิดปกติของงบการเงินโรงพยาบาล และความผิดปกติของกลุ่มคนที่มารับบริการที่มีชื่อซ้ำๆกันในช่วงเวลาเดียวกันที่มีแพทย์เพียงคนเดียวเป็นผู้ตรวจ ในปีงบประมาณ 2567 เข้มงวดกับเงื่อนไขการเบิกจ่ายยา ส่งผลให้งบการเงินกลับมาเป็นบวกมีกำไร 70 ล้านบาท ยืนยันจะควบคุมระเบียบร่วมกับกรมบัญชีกลาง ไม่ให้เงินภาษีประชาชนรั่วไหล
พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการ ป.ป.ท. เผยเพิ่มเติมว่า ถือเป็นการดำเนินคดีเครือข่ายทั้งหมด 12 คน ครบทั้งขบวนการทั้งหมดที่ถูกจับให้การปฏิเสธ โดยนายสมปราช คนรับยาจาก พ.อ.หญิงกัญยารัตน์ และถูกจับที่ จ.ปราจีนบุรี ยอมรับแค่พฤติการณ์ที่ทำแต่ปฏิเสธข้อกล่าวหา ตรวจสอบพบว่าหลังนายสมปราชรับยาจาก พ.อ.หญิงกัญยารัตน์ มี น.ส.สุรีย์ได้ซื้อต่อแล้วนำมาส่งต่อที่ร้านขายยา โดยนายสมปราช กับ น.ส.สุรีย์ รู้จักกันผ่านโซเชียลค้าขายยากันมา 6-7 ปี ส่วนยามี 2 ชนิด คือ ยาในบัญชีที่ผลิตในประเทศ ไทย ส่วนยานอกบัญชีคือยาที่นำเข้าจากนอกประเทศ มีราคาแพง ในเคสนี้เป็นยานอกบัญชี 90% ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นห่างกัน 2-10 เท่าตัว และเคสนี้ยาไม่มีต้นทุนเพราะทุกบัตรประชาชนที่ถือมา คนที่จ่ายเงินคือกรมบัญชีกลาง
จากการตรวจสอบพบเป็นยาในกลุ่มเรื้อรัง ยาเบาหวาน ความดัน ยาที่พบมากที่สุดในขบวนการนี้คือ ยาลดไขมันในเลือด มีราคาเกือบ 1,000 บาทต่อกล่อง ต้นทุนอาจจะ 3 บาทต่อเม็ด แต่พอถึงร้านขายยาเพิ่มขึ้นเป็น 20-21 บาทต่อเม็ด ความเสียหายต่อรัฐทั้งหมด 50-60 ล้านบาท
สำหรับพยานหลักฐานที่สามารถเอาผิดได้นั้น เริ่มจากการใช้ดุลพินิจที่ผิดปกติ จากการไปตรวจสอบเวชระเบียน พบการกรอกเอกสารเท็จ และมีพยานหลักฐานยืนยันเรื่องการรับประโยชน์ เส้นทางการเงิน รวมถึงการตรวจสอบการทำหน้าที่ของแพทย์หญิง 5 ปีย้อนหลังมีคนไข้ที่อยู่ในความดูแล 2,000 กว่าคน และเครือข่ายพวกนี้จะแวะมา รพ. 4 ครั้งต่อปี เท่ากับจะรักษาคนไข้และจ่ายให้หมื่นกว่าครั้งต่อปีเป็นความผิดปกติทั้งหมด
#ทุจริตยา
#ทหารผ่านศึก