นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ เห็นชอบเอกสาร รายการ 'ประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย' (Loy Krathong : Traditional Water - honoring Festival in Thailand) เพื่อเสนอเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกและเห็นชอบให้อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมในฐานะเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นผู้ลงนามในเอกสารดังกล่าว
การเสนอประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก ดำเนินการตามมาตรา 16 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ซึ่งประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย มีคุณค่าความสำคัญสอดคล้องตามหลักเกณฑ์การเสนอในประเภทรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติของยูเนสโก และประเพณีลอยกระทงได้รับการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อปี 2554 ดังนั้นการเสนอประเพณีลอยกระทงในประเทศไทยครั้งนี้ถือเป็น Soft Power ที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะด้านเฟสติวัลเพื่อส่งเสริมคุณค่าและมูลค่าเทศกาลประเพณีให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก กระตุ้นให้นักท่องเที่ยววางแผนการเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ที่สำคัญนำทุนทางวัฒนธรรม พัฒนาสู่ทุนทางเศรษฐกิจสร้างงาน สร้างรายได้อันจะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมกับอนุรักษ์ประเพณีและสิ่งแวดล้อมและเป็นโอกาสเสริมสร้างภาพลักษณ์และบทบาทไทยในเวทีโลก ที่สำคัญยกระดับเทศกาลประเพณีให้เป็นที่รู้จักในระดับชาติและนานาชาติตามนโยบายวัฒนธรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ วธ. อีกด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในบัญชีรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จำนวน 6 รายการ ได้แก่ โขน (ปี 2561) นวดไทย (ปี 2562) โนรา (ปี 2564) สงกรานต์ในประเทศไทย (ปี 2566) ต้มยำกุ้ง (ปี 2567) และเคบายา (ปี 2567)
#ประเพณีลอยกระทง
#ขึ้นทะเบียนยูเนสโก
Cr:เพจรัฐบาลไทย