กลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าวไทย ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อยกระดับสวัสดิภาพลิงที่อาจถูกใช้แรงงานในอุตสาหกรรมมะพร้าวของไทยเป็นครั้งแรก นำร่องด้วยโครงการร่วมกันดูแลลิงที่ถูกใช้แรงงานในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ก่อนมุ่งขยายสู่ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการออกกฎหมายห้ามใช้ลิงเก็บมะพร้าว รวมถึงการบังคับใช้อย่างจริงจัง พร้อมทั้งส่งเสริมวิทยาการในการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการปลูกมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมและต้นเตี้ยอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยเป้าหมายสำคัญคือสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรม และแก้ไขภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมมะพร้าวไทยในสายตาประชาคมโลก31 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นมูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนกว่า 3 แสนครัวเรือน
ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าวไทย และมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า จะนำร่องด้วยการโครงการร่วมกันดูแลลิงที่ถูกใช้แรงงานในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งภาคเอกชนที่เป็นสมาชิก ได้แก่ บริษัท สุรีย์ อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด, บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด, บริษัท ไทย โคโคนัท จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอเชียติค อุตสาหกรรมเกษตร จำกัด ได้ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อเป็นกองทุนให้มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่านำไปใช้ดูแลลิงที่อาจถูกใช้แรงงานในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โดยได้รับความสนับสนุนจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการช่วยเหลือและฟื้นฟูลิงที่ได้รับผลกระทบ ภายใต้กรอบความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงระหว่างมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเป็นไปตามกฎหมาย
เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวยังมีแผนที่จะดำเนินมาตรการที่สำคัญต่างๆ ในอนาคต ดังนี้
• ขอให้รัฐบาลเร่งผลักดันการออกกฎหมายที่มีการบัญญัติกฎหมายที่ชัดเจนและครอบคลุมเกี่ยวกับการห้ามใช้ลิงในการเก็บมะพร้าว รวมถึงกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสมและเป็นธรรมสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
• ปิดโรงเรียนฝึกสอนลิง (ทั้งในและนอกระบบ) และสนับสนุนให้ใช้สถานที่เหล่านี้เป็นศูนย์ดูแลหรือโรงพยาบาลลิงที่ปลดระวางหรือออกจากระบบแทน
• สนับสนุนให้มีการปลูกต้นมะพร้าวพันธุ์ลูกผสม (กึ่งต้นเตี้ย) และมะพร้าวน้ำหอม (ต้นเตี้ย) อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบความร่วมมือที่ได้ทำไว้กับสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการสนับสนุนพันธุ์มะพร้าวลูกผสมและต้นเตี้ยให้เกษตรกร ซึ่งให้ผลผลิตดีและสามารถเก็บเกี่ยวได้ง่าย
• พัฒนาเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยว สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมือในการเก็บเกี่ยวมะพร้าว เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานลิง และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
• การตรวจสอบย้อนกลับ สร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับมะพร้าวที่ใช้ในการผลิต เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการใช้แรงงานลิงในกระบวนการผลิต และสร้างความโปร่งใสให้กับห่วงโซ่อุปทาน
ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ในช่วงปี พ.ศ. 2563 - 2566 ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวไปยัง 131 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นมูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนกว่า 3 แสนครัวเรือน
#ลิงเก็บมะพร้าว