กรมอุตุนิยมวิทยา ขอแจ้งว่า ในวันที่ 31 มี.ค. 68 After shock ที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวที่เมียนมาร์ มีขนาดเล็ก ไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ย้ำว่าในขณะนี้ ไม่ได้เกิดแผ่นดินไหวซ้ำ หลังพบว่า มีคนอพยพลงจากอาคารหลายแห่ง
ขณะที่ สถานการณ์วันนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.สถานการณ์โดยทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพฯ และ 2.สถานการณ์ ณ จุดเกิดเหตุอาคารถล่ม เขตจตุจักร โดยในเบื้องต้น ส่วนใหญ่ภาพรวมในกรุงเทพฯ คลี่คลายเกือบ 100% การจราจรเปิดหมดทุกเส้นทาง
การตรวจสอบอาคาร ได้รับแจ้งจากประชาชนเข้ามา 13,000 กว่าราย แต่มีหลายอาคารมีผู้แจ้งเข้ามาซ้ำซ้อนกัน บางเคสเป็นแค่รอยร้าวผนัง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่วิเคราะห์สามารถให้ความเห็นได้ว่าต้องเข้าไปตรวจสอบหรือไม่
จากการตรวจสอบแล้ว พบอาคารไม่อนุญาตให้ผู้อาศัยเข้าไปอยู่ได้ จำนวน 2 อาคาร มีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 2,000 คน เราจึงได้จัดที่พักชั่วคราวให้ มีผู้เข้ามาขอรับความช่วยเหลือ 172 คน โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการจัดหาที่พักให้
ทั้งนี้ ส่วนที่เป็นอาคารราชการจะดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง หากประชาชนยังไม่มั่นใจในเรื่องอาคารสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ สามารถแจ้งเข้ามาทาง Traffy Fondue ได้ ตลอด 24 ชม.
เรื่องการช่วยเหลือเยียวยาจะมีมาตรการออกมา ขณะนี้ทางกรมป้องกันและบรรเทาธารณภัย (ปภ.) กำลังดำเนินการสรุปรายละเอียดว่าจะมีการเยียวยาอย่างไร และด้านญาติของผู้ประสบภัยที่มารอ กทม. ได้จัดเต็นท์ อาหารน้ำ จุดลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน และมีล่ามชาวเมียนมาพร้อมอำนวยความสะดวก มีภาคเอกชนมาช่วย
ส่วนอาคาร สตง. ถล่ม เขตจตุจักร วันนี้จะครบ 72 ชม. ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาวิกฤติในการค้นหาผู้รอดชีวิต ได้สั่งการให้เดินหน้าต่อ จากการประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญนานาชาติที่เข้ามาช่วย เชื่อว่ายังมีโอกาสที่จะพบผู้รอดชีวิต และเรามีการปรับยุทธวิธีตลอด
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ย้ำว่า ขณะนี้เราเร่งดำเนินการ หน้างานอุปกรณ์พร้อม เจ้าหน้าที่พร้อม และขณะนี้ยังไม่ได้มีการเรียกขออุปกรณ์อะไรเพิ่มเติม ทั้งนี้ เนื่องจากมีฝนตกอาจปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ จะมีฝุ่นเศษปูนชิ้นเล็ก ๆ และเป็นผงอยู่เยอะ หากฝนตกหนักอาจเกิดการสะสมและแข็งตัวเป็นก้อนหนักขึ้น แต่ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นปัญหาหลัก
พื้นที่ตึกถล่มห้ามเข้าเด็ดขาดตามกฎหมาย ได้สั่งการให้มีการล้อมพื้นที่โดยตอนนี้มีทางทหารควบคุมการเข้า-ออกอยู่ การนำวัสดุต่าง ๆ ในพื้นที่ไปตรวจสอบเป็นหน้าที่ของทางภาครัฐ ซึ่งต้องลงทะเบียนให้ชัดเจนเพราะเป็นทรัพย์สินของทาง สตง. สำหรับซากปรักหักพังจำนวนมากราว 5 หมื่น ลบ.ม. ก็ได้เตรียมพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยไว้รองรับ
#แผ่นดินไหว
#อาฟเตอร์ช็อก