นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวนการโรงพยาบาลราชวิถี ให้สัมภาษณ์ถึงแผนการดำเนินงานการดูแลรักษาผู้ป่วยและความปลอดภัยโครงสร้างอาคารของโรงพยาบาล(รพ.)ราชวิถี ภายหลังสถานการณ์แผ่นดินไหวในวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ว่า รพ.ราชวิถี มีผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวนมาก ในแต่ละปีดูแลผู้ป่วย 1.4 ล้านครั้งต่อปี ขณะเดียวกันอาคารใหญ่ที่ให้บริการ คือ อาคารทศมินทราธิราช มีความสูง 25 ชั้น ถือเป็นหัวใจหลักของรพ. โดยให้บริการผู้ป่วยนอกวันละ 6,000 คน +ญาติ แต่ละวันอาคารนี้จึงมีคนใช้ตึกราว 1 หมื่นกว่าคนต่อวัน ประกอบกับอาคารนี้ยังมีหอผู้ป่วยในประมาณ 440 เตียง มีไอซียู 30 เตียง ห้องผ่าตัดอีก 15 ห้อง ส่วนอาคารสิรินทร 12 ชั้นมีผู้ป่วยในส่วนหนึ่ง
แยกการดำเนินการเป็น 3 ประเด็นคือ ประเด็นที่ 1 การอพยพผู้ป่วย ผู้มารับบริการ รวมทั้งบุคลากรของโรงพยาบาลออกจากอาคารต่างๆ โดยในส่วนผู้ป่วยในที่อพยพจากอาคารนั้น คณะทำงานได้มีการบริหารจัดการจำแนกผู้ป่วย วันที่ 28 มีนาคม 2568 ออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มสีแดง ผู้ป่วยหนัก จำนวน 63 ราย กลุ่มสีเหลืองอาการปานกลาง 291 ราย ได้รับการดูแลที่ โรงพยาบาลสนาม จำนวน 221 ราย (ย้ายไปโรงพยาบาลในเครือกรมการแพทย์ จำนวน 70 ราย ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี 2 จำนวน 32 ราย สถาบันโรคทรวงอก จำนวน 29 ราย โรงพยาบาลสงฆ์ จำนวน 5 ราย สถาบันประสาทวิทยา จำนวน 2 ราย สถาบันมะเร็ง จำนวน 2 ราย) และกลุ่มสีเขียว อาการไม่รุนแรง 53 ราย ได้ประสานส่งตัวไปเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในเครือกรมการแพทย์ ภาพรวมคนไข้ และเจ้าหน้าที่ปลอดภัย ไม่มีใครเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว
อาคารบริการต่างๆ ในโรงพยาบาลราชวิถี กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้เข้ามาตรวจสอบโครงสร้างอาคารแล้ว ซึ่งมี 3 อาคารหลัก โดย 1.อาคารสิรินธร สามารถเปิดใช้งานได้ตามปกติ โครงสร้างปลอดภัย ใช้งานได้ 2. อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารจอดรถ 12 ชั้น ใช้งานได้ตามปกติ ยกเว้นโถงลิฟท์ใหม่ที่พบรอยร้าว ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างและการใช้งาน จึงต้องปิดเพื่อปรับปรุง ซ่อมแซมก่อนกลับมาใช้ และ 3. อาคารทศมินทราธิราช ตรวจพบรอยร้าวที่อาจกระทบต่อโครงสร้าง ซึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวนมากวันละกว่า 1 หมื่นคน จึงขอให้งดใช้ตึกไปก่อน เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญจากสภาวิศวกรรมฯ เข้ามาตรวจโดยละเอียดอีกครั้ง ด้วยเครื่องมือพิเศษ เพื่อยืนยันความปลอดภัย
สำหรับอาคารทศมินทราธิราช เป็นอาคารหลักที่เปิดใช้บริการผู้ป่วย กรมการแพทย์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ประเมิน และให้ข้อเสนอแนะการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารทศมินทราธิราช โรงพยาบาลราชวิถี จากเหตุแผ่นดินไหว ตามคำสั่งเลขที่ 259/2568 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2568 ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เกี่ยวกับวิศวกรรมโครงสร้างอาคาร จากทุกภาคส่วน ได้แก่ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ กรมโยธาธิการและผังเมือง กองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย มูลนิธินายช่างไทยใจอาสา และ เขตราชเทวี เป็นต้น เพื่อประเมินผลกระทบจากแผ่นดินไหว ที่อาจจะได้รับความเสียหาย ความมั่นคง แข็งแรงของโครงสร้างอาคาร และความปลอดภัย ของอาคารในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
สำหรับการวางแผนดำเนินการรองรับการให้บริการใน 3 วันแรก ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึง 2 เมษายน 2568 หลังพ้นภาวะวิกฤติ ที่มีพื้นที่การให้บริการที่จำกัด โดยของดให้บริการตรวจโรคผู้ป่วยนอกทุกคลินิก ยกเว้นกรณีอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน สามารถใช้บริการที่อาคารอุบัติเหตุ-ฉุกเฉินได้ตามปกติ โดยในวันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน 2568 เป็นต้นไป คาดการณ์ว่าสามารถเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องการการรักษาต่อเนื่อง และผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาที่จำเป็นเร่งด่วนได้เพิ่มเติมแม้วันที่ 3 เมษายนจะเปิดบริการ แต่จะไม่เหมือนเดิม เนื่องจากต้องปิดอาคารทศมินทราธิราช จึงต้องเซ็ตจุดโอพีดีชั่วคราวขึ้นตามจุดต่างๆ โดยผู้ป่วยใหม่หากชะลอมาได้ขอความร่วมมือก่อน แต่ยังให้บริการผู้ป่วยเก่าที่มีนัด ซึ่งทางรพ.จะโทรศัพท์แจ้งหากต้องเลื่อนนัด หรือหารับยาก็จะประสานจัดส่งยาทางไปรษณีย์แทน ส่วนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องผ่าตัด จากเดิมมีห้องผ่าตัด 22 ห้อง ซึ่งห้องผ่าตัดใหญ่มี 15 ห้องที่อาคารทศมินทราธิราช เมื่อใช้ไม่ได้จึงต้องใช้ห้องผ่าตัดในตึกย่อยอื่นๆ ปัจจุบันใช้ได้ 6 ห้อง จึงจำเป็นต้องผ่าตัดเฉพาะฉุกเฉินจริงๆ ส่วนเคสรอได้ต้องขอเลื่อนออกไปก่อนสามารถใช้อาคาร 25 ชั้นได้เมื่อไหร่ นพ.จินดา กล่าวว่า ต้องรอผู้เชี่ยวชาญประเมินตรวจสอบอย่างละเอียด ขอให้ติดตามได้ผ่านทางช่องทางของรพ.ราชวิถี ทั้งสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-206-2900 หรือ ติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook ของรพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ และ Line Official Account รพ.ราชวิถี @rajavithi
#โรงพยาบาลราชวิถี
#อาคารทศมินทราธิราช
Cr:HFOCUS