เปิดผลสุ่มตรวจ 'เหล็ก' โครงสร้างอาคาร สตง.ที่พังถล่ม บางส่วนไม่ได้มาตรฐาน

01 เมษายน 2568, 05:38น.


          ผลการตรวจสอบตัวอย่างเหล็กของตึก สตง. ที่ถล่ม เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 จำนวน 28 ท่อน 7 ไซส์ว่าเป็นไปตามคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือไม่ น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรมว.อุตสาหกรรม พบว่ามีจำนวนเหล็ก 13 ท่อน 2 ไซส์ที่ไม่ได้มาตรฐานคือ ไซส์ 20 มิลลิเมตร และ 32 มิลลิเมตร ซึ่งทั้ง 2 ไซส์มาจากบริษัทเดียวกัน ซึ่งเป็นบริษัทเหล็กแห่งหนึ่ง ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้สั่งปิดไปในช่วงเดือนธ.ค. 67 เนื่องจากจำหน่ายเหล็กไม่เป็นไปตามมาตรฐาน แต่ตัวอย่างเหล็กที่เหลือส่วนใหญ่ผ่านมาตรฐานทั้งทางเคมีและทางกลมีจำนวน 15 ท่อน 5 ไซส์



          โดยยอมรับว่ามีเหล็กบางรายการตกเกรด เช่น มีมวลต่อเมตรที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งหมายถึงน้ำหนักเหล็กหายไป เรียกว่าเหล็กเบา อย่างไรก็ดี เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน หากนำไปใช้งานก่อสร้างจะมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าอาคารจะพัง เพราะการเกิดเหตุตึกถล่มจะมีหลายปัจจัยทั้งโครงสร้าง การออกแบบ และอื่นๆ มาประกอบด้วย



          อย่างไรก็ดี เหล็กที่เรานำมาตรวจสอบ เป็นเพียงการสุ่มตรวจเข้ามา หลังจากนี้ทางสมอ.จะกลับไปนำตัวอย่างเข้ามาตรวจสอบเพิ่มเติม เพื่อให้มีหลักฐานเพียงพอ ซึ่งเวลาเราตรวจสอบ เราไม่ได้เฉพาะเจาะจงบริษัทใด บริษัทหนึ่งเท่านั้น เป็นการสุ่มตรวจจากซากตึกที่ถล่ม ส่วนเหล็กที่ไม่ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบครั้งนี้ จะไปดูว่า เป็นเหล็กที่ผลิตระหว่างที่เราสั่งปิดหรือไม่ อย่างไร เพราะเราสั่งปิดไปประมาณ 4 เดือน แต่ดูจากเหล็กน่าจะประมาณ 5 เดือน ก็ต้องตรวจสอบเชิงลึกกันอีกครั้ง หากพบว่ามีการลักลอบนำเหล็กไม่ได้มาตรฐานออกมาใช้ ก็จะโดนดำเนินคดีต่อไป



          แม้จะไม่สามารถบอกได้ทั้งหมดว่าเหล็กตัวไหนที่ไม่ผ่านมาตรฐาน เพราะมันจะมีผลกระทบทำให้หน้างานเปลี่ยนแปลงสภาพ และทำให้การเข้าหน้างานเพื่อเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมได้ลำบากขึ้น เพื่อให้ผลพิสูจน์สะท้อนข้อเท็จจริง เราจะตรวจสอบและวิเคราะห์เพิ่มเติม โดยเราต้องเก็บตัวอย่างเหล็กเพิ่มเติม เพราะเหล็กที่นำมาวันนี้เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเก็บตัวอย่างเหล็ก ในช่วงที่หน้างานกำลังค้นหาผู้สูญหายอยู่ที่ตึก สตง. ถล่ม เราจึงไม่กล่าวหรือบ่งชี้จนกว่าเราจะตรวจสอบและวิเคราะห์เพิ่มเติม



          สำหรับตัวอย่างเหล็กที่ส่งเข้ามาตรวจเข้ามายัง สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย มีจำนวนทั้งหมด 7 ไซส์จำนวน 28 ท่อน ซึ่งประกอบไปด้วย ตัวอย่างเหล็ก

1. เหล็กข้ออ้อย SD40T ขนาด 12 มม. จำนวน 3 ท่อน

2. เหล็กข้ออ้อย SD40T ขนาด 16 มม. จำนวน 3 ท่อน

3. เหล็กข้ออ้อย SD40T ขนาด 20 มม. จำนวน 6 ท่อน

4. เหล็กข้ออ้อย SD50T ขนาด 25 มม. จำนวน 2 ท่อน

5. เหล็กข้ออ้อย SD50T ขนาด 32 มม. จำนวน 7 ท่อน

6. เหล็กเส้นกลม SR24 ขนาด 9 มม.จำนวน 2 ท่อน

7. ลวดสลิง ขนาด 15.2 มม. จำนวน 5 เส้น



          จากการตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่ผลิตเหล็กที่ใช้ในอาคาร สตง. 3 บริษัท คือ SKY (บริษัทซินเคอหยวน ซึ่งเป็นผู้ผลิตจากจีน) TATA (บริษัททาทาสตีล ผู้ผลิตจากอินเดีย) และ TYS (เครือบริษัทไทยคูณ ผู้ผลิตจากจีนร่วมทุนกับไทย) ซินเคอหยวน ซึ่งเป็นผู้ผลิตจากจีน) TATA (บริษัททาทาสตีล ผู้ผลิตจากอินเดีย) และ TYS (เครือบริษัทไทยคูณ ผู้ผลิตจากจีนร่วมทุนกับไทย)



          สำหรับการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส จึงมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงานร่วมตรวจสอบครั้งนี้ ได้แก่ นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) รศ.ดร.กิจพัฒน์ ภู่วรวรรณ กรรมการวิศวกรรมโยธา และประธานคณะอนุกรรมการโครงสร้างเหล็ก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ดร.เอกรัตน์ไวยนิตย์ นักวิจัยอาวุโส ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ นายณัฐพล สุทธิธรรม อนุกรรมการสาขาโครงสร้างเหล็กวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยร่วมตรวจสอบ



#แผ่นดินไหว



#เมียนมา



#อุตสาหกรรม

ข่าวทั้งหมด

X