รอยร้าวเดิม! กรมโยธาธิการและผังเมือง ตรวจสอบ อาคารA ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

01 เมษายน 2568, 06:56น.


         เหตุการณ์ที่อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรือ ศูนย์ราชการอาคาร A ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร หลังมีเสียงดัง “แกร๊ก” และพบรอยแตกร้าวบางจุดของตัวอาคาร มีเศษปูนร่วงลงมา ส่งผลให้หน่วยงานที่อยู่ในตึก สั่งอพยพเจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัย ซึ่งอาคารดังกล่าวเป็นที่ตั้งหน่วยงานราชการสำคัญ อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลแขวงดอนเมือง ศาลล้มละลายกลาง กรมคุมประพฤติ กรมบังคับคดีและดีเอสไอบางส่วน รวมทั้งหน่วยงานราชการอื่น   



          หลังเกิดเหตุบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ซึ่งเป็นผู้ดูแลศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะส่งทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบอาคารแล้ว ไม่พบความเสียหายต่อโครงสร้างอาคาร และระบบประกอบอาคาร ลิฟต์ บันไดเลื่อนปลอดภัย ให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานและผู้ใช้อาคารสามารถกลับเข้าตึกได้ปกติ



          ขณะที่ตรวจสอบอาคาร นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย พร้อมนายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายธเนศ วิระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กรมธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ ร่วมตรวจสอบและประชุมประเมินสถานการณ์ โดยนางสาวซาบีดาให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมวันนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้อาคาร เนื่องจากอาการ after shock แต่ไม่รุนแรงส่งผลกระทบต่อมั่นคงแข็งแรงของอาคาร และประชาชน อาคารได้รับการตรวจสอบจากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา ส่วนอาคารหน่วยงานราชการอื่นๆก็พยายามไล่ตรวจสอบให้ครบถ้วนทุกอาคาร ซึ่งกรมโยธาธิการฯมีศูนย์รับแจ้งเข้าตรวจสอบอาคารของหน่วยงานภาครัฐ และอาคารนี้ได้มีทีมวิศวกรของตึกตรวจสอบ 1 รอบ สร้างความมั่นใจในการกลับเข้าใช้ตึกได้ ส่วนการเปิดให้บริการประชาชนที่จะมาติดต่อขึ้นอยู่กับหน่วยงานราชการ





          ด้านนายพงษ์นรากล่าวว่า วันนี้ตั้งแต่เวลา 10.28 น.ได้รับรายงานเหตุแผ่นดินไหวและ after shock ประมาณ 15 ครั้งระดับความแรง 2-3 เราไม่ได้รับรู้กัน เพียงแต่ผู้ใช้อาคารอาจมีความรู้สึกของตัวเอง เหมือนเวียนหัว พอมีกลุ่มคนหนึ่งอพยพลงมาจากอาคารก็พากันตามมา ยืนยันว่าอาคารนี้ได้ตรวจสอบโดยวิศวกรที่ดูแลอาคารเรียบร้อยแล้วเมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา พบรอยร้าวไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคารหรือความแข็งแรง แต่อาจมีการขยับตัวของรอยเชื่อมระหว่างอาคารป้างแต่จากการตรวจสอบ ไม่พบรอยร้าวที่ส่งผลต่ออาคารจึงเปิดให้ใช้งานตามปกติในวันนี้ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นจากการได้รับข้อมูลเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมาเมื่อทำงานจึงเกิดความรู้สึกยังมีความไม่ปกติอยู่ เมื่อเกิดอะไรขึ้นก็จะคิดว่าเกิดแผ่นดินไหวอีกแล้วและอพยพ ซึ่งอาฟเตอร์ช๊อค 15 ครั้งที่เกิดขึ้นเมื่อเช้าขนาดเล็ก



           อย่างไรก็ตาม แจ้งเพื่อความมั่นใจ กรมโยธาธิการและแผนผังเมืองส่งทีมงานวิศวกร เข้ามาตรวจซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่ามีรอยแตกร้าว หรือมีความเสียหายอะไร หรือมีการทรุดตัวเพิ่มขึ้นหรือไม่ รูปภาพที่ส่งกันในโซเชียลมีเดีย ระบุว่าเป็นรูปภาพที่อาคารเอียง ซึ่งการออกแบบโครงสร้างต้องการให้เอียงอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นการเอียงเพิ่มขึ้นจากแผ่นดินไหว ขอย้ำว่าทางโซนอาคารเอและอาคารบีมีการออกแบบอาคารให้มีความเอียงอยู่แล้ว



          ขณะที่นายธเนศ กล่าวว่า ส่วนตัวนั่งทำงานที่อาคารนี้ตึก ทางซีกขวาจึงคุ้นตารอยร้าวของอาคารแห่งนี้เพราะทำงานมา 10 กว่าปีแล้ว และตัวเราก็เป็นวิศวกรด้วยก็รู้ถึงการแยกเห็นถึงตำแหน่งที่แยกอยู่เดิมแล้ว ซึ่งเป็นการออกแบบให้ยืดหยุ่นได้ จึงเป็นรอยแยกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อสร้าง ส่วนรอยแตกใหม่แทบไม่มีเลย ซึ่งวันนี้ตนนั่งทำงานที่นี่ต่อ แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจเราจะตรวจสอบซ้ำ โดยประสานกรมโยธาธิการฯให้เข้ามาตรวจสอบ และประสานขอเครื่องมือตรวจความสั่นสะเทือน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นรอยร้าวไม่ได้เกิดขึ้นที่เสาและคานที่เป็นโครงสร้างหลักของตัวอาคาร จะเห็นแค่รอยริ้วเล็กๆเท่านั้น ไม่ได้เกิดเป็นโพรงจนมองเห็นทะลุกำแพง แต่ต้องฉาบรอยร้าวใหม่แต่ต้องรอหลังหมดอาฟเตอร์ช็อคก่อน



          ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ที่อาคาร A ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ล่าสุดทีมวิศวกรที่ปรึกษาของศูนย์ราชการเข้ามาตรวจสอบโครงสร้างอาคารอีกครั้ง เบื้องต้นพบมีเสาหลักบริเวณชั้น 2 ของอาคารติดกับที่ทำการไปรษณีย์ปูนเกิดการกระเทาะแตก จากแหล่งส่วนสะเทือนของแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม





          นายไพรัช เล้าประเสริฐ ผู้ควบคุมงานก่อสร้างศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เปิดเผยว่า ช่วงการตรวจสอบพบว่าปูนมีรอยร้าวจนกระเทาะแตกเล็กน้อย เจ้าหน้าที่จึงกระเทาะปูนออกมาเพื่อตรวจสอบดูเสาภายในว่าได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวหรือไม่ ซึ่งปูนที่กระเทาะแตกออกมานั้นเป็นเพียงปูนที่ฉาบด้านนอกของเสา ซึ่งค่อนข้างเปราะบางรองรับแรงกระแทกไม่ได้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ส่งผลถึงตัวเสาที่เป็นโครงสร้างอาคารด้านใน และกระทบต่อตัวอาคาร เพราะถ้ากระทบโครงสร้างต้องมีรอยแตกหลายจุด



          จากนี้ต้องนำปูนพอกซี่ ซึ่งแข็งแรงมากกว่าปูนซีเมนต์ เมื่อแข็งตัวแล้วจะแข็งแรงเท่ากับคอนกรีตมาฉาบปิดรอยบริเวณดังกล่าว โดยจะเร่งซ่อมแซมทันที ยืนยันว่าจากการตรวจสอบพบความเสียหายที่บริเวณจุดนี้เพียงจุดเดียว หลังจากนี้วิศวกรจะนำกระจกสไลด์บางมาติดตั้งบริเวณจุดรอยเชื่อมของอาคาร รวมถึงจุดที่เกิดรอยร้าว เพื่อทดสอบแรงสั่นสะเทือน หากอาคารขยับตัวกระจกก็จะร่วงแตก

ข่าวทั้งหมด

X
loading