วันนี้มาถึงแล้ว(2 เม.ย.)วันปลดแอก สหรัฐ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ประกาศ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศทั่วโลก ท่ามกลางความกังวลว่า มาตรการเช่นนี้อาจย้อนศรทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เองเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยทรัมป์ จะประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ในวันพุธที่ 2 เม.ย.เวลา 15.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 3 เม.ย.เวลา 02.00 น.ตามเวลาไทย
หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวระบุว่า ปธน.ทรัมป์อาจเรียกเก็บภาษี 20% ต่อสินค้าส่วนใหญ่ที่มีการนำเข้าสู่สหรัฐ
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้ประกาศขึ้นภาษีรายอุตสาหกรรมเฉพาะภาคยานยนต์ โดยเรียกเก็บจากรถยนต์นำเข้าทั้งหลายในอัตรา 25% ไปแล้ว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันพฤหัสฯ (3) นอกจากนั้นเขาเคยพูดว่าอาจรีดภาษีเพิ่มจากอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างเซมิคอนดักเตอร์ และยา อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์หลายคนพากันเตือนว่า ยุทธศาสตร์เช่นนี้เสี่ยงจุดชนวนให้เกิดสงครามการค้าลุกลามขยายตัวไปทั่วโลก เนื่องจากจะกระตุ้นห่วงโซ่การตอบโต้จากพวกประเทศคู่ค้ารายสำคัญ โดยที่จีนและแคนาดาต่างออกออกมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้เล่นงานสินค้าอเมริกันนำเข้าไปแล้วเพื่อรับมือกับการรีดภาษีซึ่งทรัมป์ประกาศออกมาระลอกก่อนหน้านี้ ขณะที่มาตรการตอบโต้ของสหภาพยุโรป จะเริ่มมีผลช่วงกลางเดือนนี้
ในวันจันทร์ สถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของทางการจีน (ซีซีทีวี) โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม เว่ยปั๋ว ว่า จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ตกลงร่วมกันรับมือมาตรการภาษีศุลกากรของอเมริกา ระหว่างการหารือทางเศรษฐกิจของประเทศทั้ง 3 ครั้งแรกในรอบ 5 ปีเมื่อวันอาทิตย์ (30 มี.ค.)
ทว่า เมื่อพวกสำนักข่าวต่างประเทศสอบถามไปยังกระทรวงการค้าเกาหลีใต้ กลับได้คำตอบว่า นี่เป็นรายงานข่าวเกินจริง และอ้างอิงคำแถลงร่วมซึ่งกล่าวเพียงว่า รัฐมนตรีการค้าสามประเทศเห็นพ้องเร่งการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันเพื่อส่งเสริมการค้าภายในภูมิภาคและระดับโลกเท่านั้น
เช่นเดียวกับโยจิ มูโตะ รัฐมนตรีการค้าญี่ปุ่น ที่เผยว่า ในการประชุมดังกล่าวมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แต่ไม่มีการหารือเรื่องการรับมือมาตรการภาษีของสหรัฐฯ แต่อย่างใด
ด้าน คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่า มาตรการภาษีของทรัมป์อาจเป็นสิ่งที่สร้างความวิตกกังวล แต่จะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากนักใน
ด้านพวกประเทศคู่ค้าของอเมริกา ต่างเร่งหาทางลดผลกระทบจากภาษีระลอกใหม่ของทรัมป์ โดยมีรายงานว่า อินเดียอาจลดอัตราภาษีศุลกากรของตนลง เช่นเดียวกับเวียดนามที่ประกาศเมื่อวันอังคารว่า จะลดภาษีศุลกากรสินค้าหลายรายการที่รวมถึงรถยนต์ ก๊าซธรรมชาติเหลว และสินค้าเกษตรบางอย่าง สำหรับญี่ปุ่นได้จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษา 1,000 แห่งสำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาษีของอเมริกา
นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ของสหราชอาณาจักร บอกว่ากำลังพยายามหารือกับสหรัฐฯอย่างสร้างสรรค์สำหรับการทำข้อตกลงการค้าระหว่างสองชาติให้สำเร็จโดยเร็ว ถึงแม้เขายอมรับว่า สหราชอาณาจักรคงหนีไม่พ้นได้รับผลกระทบจากการถูกอเมริการีดภาษีศุลกากรอยู่ดี ขณะที่โอลาฟ ชอลซ์ ผู้นำเยอรมนีซึ่งกำลังใกล้พ้นตำแหน่ง เห็นว่า อียูควรตอบโต้อย่างแข็งกร้าว แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะประนีประนอมกับอเมริกา
#สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า
#วันปลดแอก