มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยกระดับขึ้น นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร โพสต์รูปพร้อมเนื้อหาในหัวข้อ “หัวจะปวด Thailand โดน reciprocal tariffs ไป 36%!!!” มีเนื้อหาว่า นี่ขนาดลดให้ครึ่งนึงแล้วนะ Trump เล่นคิดว่าไทยเก็บภาษีสินค้าสหรัฐ (รวม nontariff barriers) 72%! ทั้งๆ ที่ค่าเฉลี่ยภาษีนำเข้าแค่ประมาณ 10% แปลว่าเขาคิด value ของ nontariff barrier เยอะมาก หรือไม่ก็ focus ตรงสินค้าที่เราคิดภาษีเขาเยอะๆ เช่นสินค้าเกษตรทั้งหลาย หรือไม่ก็เขียนผิด
งานแรกของรัฐบาลคือต้องไปหาก่อนเลยว่า 72% มาจากไหน! จากนี้คือเกมเจรจาล้วนๆ เราน่ามีทางเลือกอยู่สามทาง
หนึ่ง สู้ (แบบ แคนาดา ยุโรป หรือจีน) ซึ่งเราอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะเราพึ่งพาเขาเยอะกว่าเขาพึ่งพาเราเยอะมาก สหรัฐเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเรา เราเกินดุลสหรัฐปีนึงหลายหมื่นล้าน (แม้ว่ามูลค่าของการเกินดุลจำนวนมากเป็นสินค้านำเข้าจากจีนที่อาศัยไทยเป็นช่องหลบเลี่ยงก็ตาม)
สอง หมอบ คือ เจรจาหาทางลงที่สหรัฐพอใจ เช่น ปรับลดภาษีที่เราเก็บเขาสูงๆ ยอมเปิดตลาดที่เราปกป้องอยู่ (เช่นสินค้าเกษตรทั้งหลาย) ยกเลิก nontariff barrier เช่น การห้ามการนำเข้าเนื้อหมู ค่าตรวจสินค้า นู้นนี่ และแค่นี้อาจจะไม่พอ เราอาจจะต้องนำเสนอทางออกให้สหรัฐอีก เช่น การนำเข้าพลังงาน นำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มเติม นำเข้าสินค้าใหญ่ๆ อย่างเครื่องบิน อาวุธ เครื่องจักร หรือต้องหาทางเพิ่มการลงทุนในสหรัฐ
เราอาจจะต้องเปิดเสรีด้านต่างๆที่สหรัฐบ่นมาตลอด เช่น บริการทางการเงิน การคุ้มครองสิทธิทางปัญญา ประเด็นสิทธิของแรงงาน แต่แน่นอนว่าทางเลือกนี้ นอกจากการเจรจา "ภายนอก" แล้วต้องการการเจรจา "ภายใน" ที่มีประสิทธิภาพ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรจะยอมเปิดสินค้าเกษตรแลกกับภาคการส่งออก ใครจะยอมเสียประโยชน์ใครจะได้ประโยชน์ และเกมที่ยากที่สุดคือการหาว่าสหรัฐต้องการอะไรจริงๆ เพราะอาจจะไม่ใช่เกมการค้า แต่เป็นเรื่องอื่นอย่างการทหาร ความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เราคงต้องอ่านเกมดีๆและประเมินผลได้ผลเสีย
สาม ทน คือถ้าเราหาทางออกไม่ได้ ก็คงต้องทน หรือหาแนวร่วมจากเพื่อนหัวอกเดียวกันในการกดดันและเจรจากับสหรัฐ เพราะเกมนี้สหรัฐก็อาจจะเจ็บอยู่ไม่น้อย สุดท้ายอาจจะต้องลดภาษีลงมาถ้าแรงกดดันในประเทศเพียงพอ แต่การทนและได้แต่หวังแบบไม่มีแผนคงไม่ใช่กลยุทธ์ทางออกที่ดีนัก
ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ยอมรับว่า ไทยถือเป็นประเทศเป้าหมายหนึ่ง เนื่องจากมีส่วนต่างอัตราภาษีศุลกากรและการเกินดุลกับสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูง ธุรกิจอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมีของไทย อาจเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากนโยบาย Reciprocal Tariffs ของสหรัฐฯ พร้อมเสนอให้ ไทยต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยเร่งดำเนินการผ่าน 1) นโยบายระยะสั้น มุ่งลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนภายนอก ปรับกรอบนโยบายมหภาคให้เอื้อต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และ 2) นโยบายระยะยาว มุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านต่าง ๆ และยกระดับขีดความสามารถภาครัฐ
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศอัตราภาษีศุลกากรพื้นฐานที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าทั่วโลกสูงสุดที่ร้อยละ 49 จากกัมพูชา รองลงมาคือเวียดนาม ที่ร้อยละ 46 ไทยร้อยละ 36 จีน ร้อยละ 34 สวิตเซอร์แลนด์ ร้อยละ 31 อินเดีย ร้อยละ 26 เกาหลีใต้ ร้อยละ 25 ญี่ปุ่นร้อยละ 24 สหภาพยุโรป (EU) ร้อยละ 20 lหราชอาณาจักร ร้อยละ 10
ส่วนประเทศในยุโรปรวมทั้งอิตาลีและเยอรมนีเตือนว่า มาตรการภาษีศุลกากรจะทำให้สงครามการค้า ขณะที่นายกรัฐมนตรี คีร์ สตาร์เมอร์ แห่งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า มีการเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันทั้งหมด และนักวิเคราะห์เตือนว่าภาษีศุลกากรอาจผลักดันให้ราคาสินค้ามีราคาแพงขึ้น
#สงครามการค้า
#เจรจาการค้า