ผู้นำเมียนมา เข้าร่วมประชุมบิมสเทค ที่ไทย - ยอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวในเมียนมา 3,145 ราย

วันนี้, 05:20น.


          1 สัปดาห์ แผ่นดินไหวศูนย์กลางที่มัณฑะเลย์ เมียนมา จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ได้เพิ่มขึ้นเป็น 3,145 ราย บาดเจ็บ 4,589 คน และสูญหาย 221 ราย



         นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สามารถช่วยเหลือชีวิตผู้ที่อยู่ภายใต้ซากปรักหักพังจำนวน 653 ราย และนำร่างผู้เสียชีวิตขึ้นมาจำนวน 626 ราย



          สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ(USGS) คาดการณ์ว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมียนมาจะทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 10,000-100,000 ราย และจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ  70 ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเมียนมา



           ด้านพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย จะเข้าร่วมการประชุม BIMSTEC ที่เป็นการรวมกลุ่มของ 7 ประเทศรอบอ่าวเบงกอล ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ  โดยจะมีการหารือผลกระทบต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูดเมื่อสัปดาห์ก่อน เอเอฟพี รายงานว่า ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าเดินทางถึงโรงแรมแชงกรีลาในกรุงเทพฯ ที่เป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดในวันศุกร์ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา



          หลายประเทศได้ส่งความช่วยเหลือและทีมกู้ภัยไปยังพม่านับตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหว แต่โครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักและการสื่อสารที่ไม่เสถียร รวมถึงสงครามกลางเมืองที่ยังดำเนินอยู่ เป็นอุปสรรคขัดขวางความพยายามช่วยเหลือบรรเทาทุกข์



          เอเอฟพีรายงานว่าในเมืองสะกาย ที่อยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวไม่ถึง 15 กิโลเมตร ผู้คนหลายร้อยชีวิตเข้าแถวรอรับการแจกจ่ายสิ่งของช่วยเหลือฉุกเฉินอย่างสิ้นหวัง



          การจราจรบนถนนที่มุ่งหน้าสู่เมืองนี้คับคั่งไปด้วยรถ ที่หลายคันเป็นส่วนหนึ่งของขบวนรถช่วยเหลือที่จัดการโดยอาสาสมัครพลเรือน และมีป้ายติดรถที่ระบุว่าถูกส่งมาจากทั่วประเทศ



          ความเสียหายที่เกิดขึ้นในสะกายนั้นกว้างขวาง โดยอาคารต่างๆ ในเมืองประมาณ 80% ได้รับความเสียหาย และ 50% ได้รับความเสียหายในระดับรุนแรง



          ขณะที่โรงพยาบาลเต็มไปด้วยผู้ป่วย และโครงสร้างอาคารดูไม่ปลอดภัย ทำให้ผู้ป่วยต้องรับการรักษากลางแจ้งท่ามกลางอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียสเป็นเวลาเกือบสัปดาห์หลังจากเกิดแผ่นดินไหว ชาวบ้านกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้รับความช่วยเหลือ



            ผู้นำหลักทั้งหมดจากกลุ่ม BIMSTEC ที่ประกอบด้วยสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่กรุงเทพฯ ไทยที่เป็นเจ้าภาพได้เสนอให้ผู้นำออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับผลกระทบของภัยพิบัติเมื่อพวกเขาพบหารือกันในวันศุกร์ หนึ่งสัปดาห์หลังจากเกิดแผ่นดินไหว



           การเข้าร่วมของมิน อ่อง หล่าย ถือเป็นชัยชนะทางการทูตสำหรับรัฐบาลพม่า เนื่องจากการประชุมสุดยอดครั้งนี้ฝ่าฝืนนโยบายของภูมิภาคที่งดเชิญผู้นำรัฐบาลทหารเข้าร่วมงานสำคัญ



 



#เมียนมา



#แผ่นดินไหว



 

ข่าวทั้งหมด

X