มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยกระดับกลายเป็นสงครามการค้า ไทยได้รับผลกระทบอาจจะส่งผลต่อ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP การปรับภาษีของไทยจากเดิมที่เป็นตัวเลขร้อยละ 36 ปรับเป็นร้อยละ 37 นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์เผยว่าสำหรับของประเทศไทยเนื่องจากประธานาธิบดีถือเอกสารตอนแถลงข่าวอยู่ที่ร้อยละ 36 แต่ในเอกสารประกอบคำสั่งฝ่ายบริหารตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 37 จึงต้องมีการปรับให้เป็นร้อยละ37 ตามเอกสารทางการ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เปิดเผยว่า เมื่อคำนวณแบบคร่าวๆ พบว่าความเสียหายเดิมหากโดนขึ้นภาษีร้อยละ 10-15 จะฉุดรั้งอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ของไทยในระดับร้อยละ 0.2-0.6 แต่เมื่อไทยโดนจัดเก็บภาษีร้อยละ 37 แบบนี้อาจจะฉุดการเติบโตของจีดีพีปีนี้เพิ่มเป็นร้อยละ 1 หากไทยยังไม่สามารถแก้ไขหรือเจรจาอะไรได้จะทำให้ยอดการส่งออกของเรากระทบแรงทำให้จีดีพีปีนี้ของไทยต้องปรับลดลงไปกว่าเดิมหรืออาจต่ำกว่า ร้อยละ2 ได้ถือเป็นปัญหาใหญ่คงไม่ใช่เฉพาะการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ
นอกจากนี้ การเติบโตของตลาดการค้าของโลกอาจชะลอตัวตามไปด้วยกระทบต่อสินค้าที่ไทยจะส่งไปทั่วโลกที่สำคัญสินค้าจากประเทศอื่นๆที่ราคาถูกโดยเฉพาะจีนที่โดนภาษีนำเข้าถึง ร้อยละ54เวียดนามร้อยละ 46 จะเข้ามาในตลาดเอเชียและเข้ามาในไทยด้วยแต่สิ่งนี้เร็วเกินไปคาดการณ์ว่าถ้าระยะยาวไทยจะเผชิญปัญหาดังกล่าวอย่างแน่นอน
สิ่งที่ไทยต้องเตรียมรับมือ คือสินค้าจากหลายประเทศที่จะทะลักเข้ามาจำหน่ายในไทย หากรัฐไม่หามาตรการป้องกันหรือช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศจะต้องปิดตัวลงไม่ต่ำกว่า 30 กลุ่มอุตสาหกรรม ภายในสิ้นปีนี้สุดท้ายจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปยังภาคท่องเที่ยวด้วย เพราะหากสถานการณ์เป็นแบบนี้หลายประเทศอาจจะชะลอการเดินทางลงเช่นกัน
ขณะที่นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สหรัฐฯเก็บภาษีตอบโต้ไทยสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก กระทบการส่งออกข้าวของไทยไปสหรัฐฯแน่นอนเพราะสหรัฐฯเป็นตลาดหลักส่งออกข้าวหอมมะลิ ราคาจะสูงขึ้นเป็นตันละ 1,400 เหรียญสูงกว่าข้าวหอมเวียดนามที่เฉลี่ยตันละ 600-700 เหรียญ แม้เวียดนามจะถูกเรียกเก็บภาษีสูงกว่าไทยอยู่ที่ 46% ปี 67 ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไปสหรัฐฯกว่า 850,000 ตัน ส่วนเวียดนามส่งออก 40,000 ตัน หวั่นว่าผู้บริโภคอาจลดการซื้อข้าวหอมมะลิไทยไปซื้อข้าวหอมเวียดนาม อยากให้หน่วยงานภาครัฐเร่งหาทางช่วยเหลือหรือเจรจากับสหรัฐฯด่วนเพื่อลดผลกระทบให้กับภาคเอกชนหากดูปริมาณการนำเข้าข้าวหอมมะลิในตลาดสหรัฐฯช่วง 2 เดือน ที่ผ่านมาหลังมีกระแสข่าวที่จะเก็บภาษีตอบโต้ในหลายประเทศทำให้ผู้ค้าข้าวในตลาดสหรัฐฯเร่งนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยไปแล้วกว่า 100,000 ตัน
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากแผ่นดินไหวและมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯว่าทั้ง 2 กรณีจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไทย 374,851.8 ล้านบาท ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไทยปีนี้ลดลง ร้อยละ2.02 ส่งผลให้จีดีพีไทยทั้งปีนี้อาจขยายตัวเหลือ ร้อยละ1 จากที่คาดการณ์ไว้ที่ ร้อยละ3 มาตรการภาษีตอบโต้จะสร้างผลกระทบมากถึง 359,104 ล้านบาท ฉุดจีดีพีลดลงร้อยละ 1.93 นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางอ้อมที่อาจทำให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาตีตลาดสินค้าไทยเช่นเครื่องจักรกลเฟอร์นิเจอร์ สินค้าเบ็ดเตล็ด อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เป็นต้น เนื่องจากจีนจำเป็นต้องหาตลาดส่งออกใหม่และไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมาย
#สงครามการค้า