นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงฯ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วยที่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ลพบุรี กาญจนบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา ระยอง จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และสงขลา ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงรวมกว่า 2,150 เที่ยวบิน และมีรายงานฝนตกรวมกันถึง 66 จังหวัด นอกจากนี้ จากการทำสถิติทำฝนหลวงพบว่า ในการปฏิบัติการทำฝนหลวงของกรมใน 100 วันนั้น จะมีฝนตกถึง 95 วัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ
โดยปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือความผันแปรของสภาพอากาศ และความชื้นสัมพัทธ์ไม่เหมาะสม จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาจากทั่วโลก พยากรณ์ว่า ปรากฏการณ์เอลนิโญจะส่งผลยืดยาวไปจนถึงสิ้นปี 2558 และทำให้ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าเกณฑ์ ประกอบกับช่วงฤดูฝนปีนี้ ประเทศไทยไม่ปรากฏร่องมรสุมหรือร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน อาจทำให้มีฝนน้อย
ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ มีเครื่องบินทำฝนหลวงกว่า 20 ลำ รวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์ สารเคมี และทีมเจ้าหน้าที่นักวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวยังได้รับความอนุเคราะห์จากกองทัพอากาศในการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 3 หน่วย พร้อมสนับสนุนเครื่องบิน 10 ลำ ขึ้นบินทำฝนหลวง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ให้มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเพียงพอ
นายวราวุธกล่าวด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎรที่ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคและทำการเพาะปลูก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งศูนย์ฝนหลวงพิเศษขึ้นในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ ฐานปฏิบัติการสนามบินจังหวัดนครสวรรค์ รับผิดชอบปฏิบัติการฝนหลวงในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา และฐานปฏิบัติการสนามบินจังหวัดเชียงใหม่ รับผิดชอบปฏิบัติการฝนหลวงในเขตภาคเหนือ ทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อให้ดำเนินการทำฝนหลวงได้สะดวกและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การนำสารในพระราชวังที่มีปฏิกิริยากับเมฆ ทำให้เกิดปริมาณฝนที่มากขึ้น หรือการส่งผู้แทนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำฝนหลวงมาให้คำแนะนำกรมฝนหลวงฯ และที่สำคัญคือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ของกรม
..