นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย เดือนมีนาคม 2568 เท่ากับ 100.35 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งเท่ากับ 99.51 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.84 (YoY) ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เนื้อสัตว์ และอาหารสำเร็จรูป ประกอบกับการขึ้นราคาน้ำมันดีเซล และค่าเช่าบ้าน สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 สูงขึ้นร้อยละ 1.08 (YoY) อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 22 จาก 130 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข คือ อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ยไตรมาสแรกของปี 2568 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2567 สูงขึ้นร้อยละ 1.08 (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 ลดลงร้อยละ 0.14 (QoQ)
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 คาดว่าจะปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 2568
โดยมีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง
1 ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง
2 ฐานราคาผักสดและไข่ไก่ในปีก่อนหน้าอยู่ในระดับสูง ขณะที่ในปี 2568 สภาพอากาศเอื้ออำนวยมากกว่าปี 2567 ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบมากขึ้น
3 การลดลงของราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลก โดยราคาในปีนี้ต่ำกว่าปีก่อนหน้า จึงส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ภายในประเทศปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกัน
4 การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
มีปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น ได้แก่
1 วัตถุดิบต้นน้ำของสินค้าเกษตรบางชนิดราคายังอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะพืชสวน เช่น มะพร้าว กาแฟ และปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้น ทั้งกะทิ กาแฟ และน้ำมันพืช
2 อาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะอาหารพร้อมทาน ราคายังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากมีการปรับราคาตามต้นทุนวัตถุดิบบางชนิดที่สูงขึ้น
…
#เศรษฐกิจไทย
#เงินเฟ้อ