สิ้น 'ผ่องศรี วรนุช' ศิลปินแห่งชาติ-ราชินีลูกทุ่งของไทย

06 เมษายน 2568, 11:05น.


          ราชินีลูกทุ่ง ผ่องศรี วรนุช ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องลูกทุ่ง) พุทธศักราช ๒๕๓๕ ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๘ สิริอายุ ๘๕ปี



          ก่อนหน้านี้ ผ่องศรี ป่วยด้วยโรคปอด เข้าออกรักษาตัวที่โรงพยาบาลตลอด กระทั่งน้ำหนักตัวลดลงเหลือไม่ถึง 20 กิโลกรัม  และเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 ผ่องศรีได้ออกจากโรงพยาบาลเพื่อกลับมาพักฟื้นที่บ้าน เนื่องจากร่างกายแข็งแรงขึ้นประมาน 70 เปอร์เซ็นต์ และได้จากไปอย่างสงบที่บ้านพักของเธอเองเมื่อช่วงเช้าวันนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการจัดพิธีตามประเพณี



          สำหรับ กำหนดการพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พิธีสวดพระอภิธรรม และพิธีพระราชทานเพลิงศพ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม จะประกาศแจ้งให้ทราบในลำดับต่อไป



          ผ่องศรี วรนุช ถือเป็นตำนานแห่งวงการเพลงลูกทุ่งไทย ด้วยเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์และบทเพลงอมตะมากมาย ได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างของศิลปินผู้มีคุณูปการต่อวงการวัฒนธรรมไทย



          ผ่องศรี เกิดเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2482 ที่ จ.ชัยนาท เป็นบุคคลที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นศิลปินเพลง ราชีนีลูกทุ่งไทย ที่มีน้ำเสียงแจ่มใส สร้างสรรค์ความสุนทรีย์ในสาขาศิลปะการแสดง (นักร้องลูกทุ่ง) มาเนิ่นนาน



           ด้วยโทนเสียงสูงเป็นเอกลักษณ์ สร้างปรากฎการณ์ในวงการเพลงลูกทุ่งผ่านบทเพลงมากมาย เช่น เพลงกอดหมอนนอนหนาว, วิมานในฝัน, ไหนว่าไม่ลืม, น้ำตาเมียหลวง, ฝนหนาวสาวครวญ และ "ด่วนพิศวาส" กลายเป็นเสียงครู และเพลงครู ต้นแบบของนักร้องลูกทุ่งหญิงรุ่นหลัง ทั้ง บุปผา สายชล, พุ่มพวง ดวงจันทร์, สุนารี ราชสีมา, ศิรินทรา นิยากร



           เส้นทางนักร้องเริ่มในปี 2498 เมื่อผ่องศรีอายุ 16 ปี โดยได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกในชีวิต "หัวใจไม่มีใครครอง" และโด่งดังสูงสุดหลังจากได้ร่วมงานกับวงดนตรีสุรพล สมบัติเจริญ จากนั้นมีผลงานต่อเนื่องได้สมญานามเป็น "ราชินีลูกทุ่งคนแรกของเมืองไทย"



          ผ่องศรีได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ 2 ครั้ง จากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำ 3 ปีซ้อน จากเพลง "กินข้าวกับน้ำพริก", "เขามาทุกวัน" และ "จันทร์อ้อน, ได้รับรางวัลพระราชทานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย 2 ครั้ง และได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง) ประจำปี พ.ศ.2535



          ตั้งแต่ต้นปี 2568 ผ่องศรีได้เข้าออกรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่อเนื่อง ด้วยอาการการอ่อนเพลีย และเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มจนเข่าแตก จนเสียชีวิตในช่วงเช้าวันนี้  



#ผ่องศรีวรนุช



#ศิลปินแห่งชาติ



 



 

ข่าวทั้งหมด

X