เปิดเหตุผล ทำไม! ไทยยังไม่เจรจาภาษีกับสหรัฐ 'ศุภวุฒิ' ชี้ รอดูทิศทางหลายประเทศยังเจรจาไม่สำเร็จ

07 เมษายน 2568, 16:05น.


          นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากรายงานข่าวของไฟแนนเชียล ไทมส์ (Financial Times) ระบุว่า ขณะนี้ไม่มีประเทศใดที่เจรจากับสหรัฐเมริกา หลังประกาศขึ้นภาษีสำเร็จสักประเทศ ไม่ว่าอินเดีย ญี่ปุ่น เป็นต้น ในส่วนของประเทศไทยก็คิดว่าการเจรจาก่อนจะเป็นทางที่ดีเช่นกัน



          ดังนั้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของไทยให้เหมือนก่อนที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี



       ทั้งนี้ ทิศทางนโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรี ประเมินว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ มีความตั้งใจจะเปลี่ยนโลก เปลี่ยนสถานะของอเมริกาให้ไม่เหมือนเดิม สะท้อนจากการประกาศนโยบายภาษีศุลกากร เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ที่จะเก็บภาษีศุลกากรจากทุกประเทศในโลกทั้ง 180 ประเทศ



        “เวลาเราจะสู้ศึก ต้องรู้เขา รู้เรา ดังนั้น เขา คือ สหรัฐที่ตั้งใจจะเปลี่ยนโลกเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนอเมริกา ประเด็นคือ ถ้ารีบไปเจรจาตามที่หลายฝ่ายแนะนำ ก็เท่ากับให้ของฟรีกับสหรัฐหมด โดยไม่ได้อะไรตอบแทนเลย เพราะฉะนั้นเราควรเก็บกระสุนไว้ก่อน ขณะเดียวกันก่อนหน้าก็ไม่มีใครรู้ได้เลยว่า สรุปแล้วนายทรัมป์จะออกนโยบายแบบไหน จะไปเจรจาก่อนหน้ากับกระทรวงการคลังสหรัฐ กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ หรือสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ก่อนก็ไม่มีใครตอบคำถามได้



       นายศุภวุฒิกล่าวว่า ดังนั้น ไทยเราจะเปลืองตัวไปทำไม กลับมาคิดว่าจะรับมืออย่างไรดีกว่า โดยจากการวิเคราะห์ของรัฐบาล สรุปสาเหตุที่สหรัฐขึ้นภาษีว่า



1. การขาดดุลการค้าทำให้สหรัฐเสียเปรียบ



2. เงินที่ได้มาจากการขึ้นภาษี นายทรัมป์จะนำไปโปะการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐ ที่เกิดจากนโยบายการขยายอายุการลดภาษีให้คนรวยในสหรัฐ



และ 3. คือต้องการให้เกิดการกลับไปตั้งโรงงานและผลิตสินค้าที่อเมริกา นายทรัมป์คิดที่จะปิดประเทศตัวเองจากโลกภายนอก และอยู่ด้วยตัวเอง ในแนวคิด ผลิตเองใช้เองรวยเอง



เช็กศักยภาพ-ดูท่าที-สร้างพันธมิตร



       เพราะฉะนั้นแนวทางการเจรจาของไทย โดยนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนยโบายการค้าสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ศักยภาพของไทยคือความสามารถในการแปรรูปอาหารและส่งออกไปทั่วโลก ซึ่งอเมริกาเป็นหนึ่งในฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่ดีมาก เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวโพด ทำให้ไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากอเมริกาเพิ่ม และแปรรูปให้เป็นอาหารขายทั่วโลก



          ซึ่งอีกส่วนสำคัญคือ เกษตรกรเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคริพับลิกันของสหรัฐและของทรัมป์



          ส่วนการจะขอลดภาษีได้หรือไม่นั้น นายทรัมป์ได้เคยตอบสื่อมวลชนในวันที่แถลงขึ้นภาษีว่า ประเทศนั้น ๆ ต้องมีข้อเสนอที่มหัศจรรย์ (Phenomenon Offer) ให้สหรัฐจึงจะพิจารณาลดภาษี คำถามต่อมาคิด ประเทศไทยจะมีข้อเสนอที่มหัศจรรย์อะไรให้สหรัฐได้ ให้ข้อเสนอไปก็อาจจะกลายเป็นการแอบทำข้อตกลงลับ ซึ่งไทยเราเดินสายกลาง ไม่ได้วิ่งไปหาและไม่ได้ตอบโต้ แต่กำลังหาทางออกว่าไทยจะอยู่กับในยุคของนายทรัมป์ได้อย่างไร



          ขั้นต่อไปคือดูท่าทีต่อไป เนื่องจากการประกาศขึ้นภาษีเมื่อวันที่ 2 เมษายน และการตอบโต้ของชาติต่าง ๆ ก็ทำให้ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ร่วงกว่า 2,200 จุด และยังอยู่ในทิศทางขาลง และการที่อาจจะทำให้สินค้าในสหรัฐแพง แต่ทางนายทรัมป์ก็ยังบอกว่าไม่เป็นไร



          ขณะที่ทางรัฐบาลไทยก็นำข้อเสนอจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ที่มีรายละเอียดว่าไทยมีภาษีศุลกากรใดเหลื่อมล้ำสหรัฐบ้าง มาทบทวน และปรับให้เทียมเคียงกับสหรัฐมากขึ้น



           “รวมทั้งจากที่เกาหลีใต้ได้เสนอขอนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากสหรัฐ ซึ่งทำให้เกิดการลงทุนโครงสร้างท่อส่งก๊าซนั้น ไทยก็ศึกษาพร้อมแสดงความสนใจก็นำเข้าก๊าซธรรมชาติด้วย ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้เป็นการที่ไทยพาดบันไดเอาไว้ หากวันไหนที่สหรัฐถอย เพราะว่าก็ขึ้นภาษีศุลกากรทำให้ประเทศเขาแย่เอง และถอยมาลงบันไดที่ไทยเราพาดไว้ได้” นายศุภวุฒิกล่าว



            ส่วนจังหวะการไปเจรจาเมื่อไหร่นั้น ตามปกติอเมริกามีสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) เป็นผู้เจรจาการค้าเป็นหลัก โดยต้องหารือกันในระดับเจ้าหน้าที่เพื่อคุยกันในรายละเอียดให้จบก่อน ที่ผ่านมาไทยก็มีกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ทำให้ที่เจรจา เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงกระทรวงพาณิชย์ดูแล ซึ่งหากการเจรจามีเรื่องใดติดขัดค่อยมีการเจรจาในระดับรัฐมนตรีต่อไป



           “ส่วนที่มีหลายฝ่ายเสนอว่าให้เจรจากับทรัมป์เลยนั้น คำถามคือไทยเรามีข้อเสนอที่มหัศจรรย์อะไรให้ทรัมป์ก่อน เพราะถ้าเตรียมตัวไม่ดี ไม่เช่นนั้นอาจจะเป็นแบบกรณีประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน ปะทะคารมดุเดือดกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และโดนทรัมป์ตำหนิต่อหน้าสื่อหรือไม่”



           ขณะที่กรณีที่ น.ส.แพทองธาร ได้มอบหมายนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปเจรจากับสหรัฐนั้น สำหรับในรายละเอียดนั้น ไม่ได้ระบุให้นายพิชัยไปเจรจาต่อรองกับสหรัฐ แต่เป็นการพบปะหารือกับหลายภาคส่วน ซึ่งมีการพบปะเกษตรกรสหรัฐด้วย



           ส่วนนี้เป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างพันธมิตรกับเกษตรกรในอเมริกา เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ สำหรับการต่อยอดไปยังการเจรจานำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อผลิตและแปรรูปเป็นอาหารส่งออกขายทั่วโลก อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ไทยยังปลูกได้ต่ำกว่าความต้องการ



          สำหรับนโยบายช่วยเหลือในระยะสั้น จากการขึ้นภาษีของสหรัฐนั้น จะมีการนำเงินกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ คาดว่า มีอยู่ราว 3 พันล้านบาทในการช่วยเหลือด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการด้านส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบ และส่งเสริมเพื่อหาตลาดใหม่ รวมทั้งการสกัดการแอบอ้าง ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (certificate of origin) เพื่อลดการเกินดุลด้วย



#สงครามเศรษฐกิจ 

ข่าวทั้งหมด

X