นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 50.8 ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นหรือมีค่ามากกว่าระดับ 50 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า ด้านเศรษฐกิจไทยส่งผลต่อความเชื่อมั่น ผู้บริโภคมากที่สุด คิดเป็น 50.52% รองลงมาคือ มาตรการของภาครัฐ คิดเป็น 15.21% สังคม/ความมั่นคง คิดเป็น 7.80% ราคาสินค้าเกษตร คิดเป็น 7.72% เศรษฐกิจโลก คิดเป็น 6.91% การเมือง คิดเป็น 5.14% ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็น 4.14% ภัยพิบัติ/โรคระบาด คิดเป็น 1.63% และอื่นๆ คิดเป็น 0.93%
ความกังวลของประชาชนต่อภาระหนี้สิน ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่อแนวโน้มการค้าระหว่างประเทศและ การส่งออกสินค้าของไทย ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้อง เฝ้าระวังซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันจากสถานการณ์แผ่นดินไหวคนยังไม่หายแพนิก กำลังซื้อไม่มี และยังไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากภาษีทรัมป์ คาดเดายากต่อผลกระทบต่อไทย ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและชะลอการซื้อ อสังหาฯออกไป เนื่องจากมาตรการลดค่าโอนและจำนอง 0.01% สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท เริ่ม 1 พฤษภาคม 2568 ถึง 30 มิถุนายน 2569 และมาตรการผ่อนเกณฑ์ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีผล 1 พฤษภาคม 2568 ถึง 30 มิถุนายน 2569 แม้จะมีผลพร้อมกัน แต่คนยังมีเวลาตัดสินใจว่าจะซื้อหรือจะโอนหรือไม่ มองว่ามาตรการมาไม่ถูกจังหวะช่วงคนกำลังแพนิกสถานการณ์ต่างๆ มีปัจจัยลบมากกว่าบวก แต่ถ้า 2 มาตรการนี้ ออกมาก่อนมีเหตุการณ์แผ่นดินไหว คงช่วย ในแง่จิตวิทยาได้บ้าง แต่สุดท้ายอยู่ที่ธนาคาร จะปล่อยกู้หรือไม่
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเมื่อวานนี้ ปิดตลาด ที่ระดับ 1,074.59 จุด ปรับลดลง 50.62 จุด มูลค่าการซื้อขายที่ 66,790.73 ล้านบาท
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตัวสูงขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 8 เมษายน ดัชนี Nikkei ของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นถึง 5.5% หลังจากร่วงลงเกือบ 8% เมื่อหนึ่งวันก่อนหน้า แตะระดับ 32,819.08 จุด เพียงครึ่งชั่วโมงหลังตลาดเปิดทำการ เช่นเดียวกับดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้ พุ่งขึ้น 2% ตลาดหุ้นในนิวซีแลนด์และออสเตรเลียก็ปรับตัวสูงขึ้น หลังเปิดตลาดเช่นกัน
#เศรษฐกิจไทย