UTCC เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคลดต่อเนื่อง2เดือน สงครามการค้าทำเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า

10 เมษายน 2568, 16:00น.


                   ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนมี.ค.68 อยู่ที่ 56.7 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าจากนโยบาย Trump 2.0 ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทย และทั่วโลกปรับตัวลดลง แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้า





          ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 50.5, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 54.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 65.4 ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นฯ ทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เช่นกันโดยปัจจัยลบสำคัญที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมี.ค.นี้ ได้แก่ ความกังวลต่อแนวนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ และการตอบโต้ของประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย Trump 2.0, ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า รายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ, ความกังวลต่อเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา ซึ่งทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคเหนือได้รับความเสียหาย, ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ, เงินบาทปรับตัวอ่อนค่า สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ, ปัญหา PM2.5 และความกังวลภาวะภัยแล้งที่จะกระทบต่อการใช้น้ำในภาคเกษตร, อุตสาหกรรม และครัวเรือน



          นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังมีสัญญาณลดลงต่อเนื่องได้ การเห็นภาพเศรษฐกิจชะลอตัวลง ยังมีความเป็นไปได้สูง และการฟื้นตัวยังเป็นไปอย่างช้า ๆ ดังนั้นการที่รัฐบาลจะไปเจรจาต่อรองเรื่องภาษีกับสหรัฐ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก แนวคิดในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ก็มีความจำเป็นเช่นกัน การใช้เงินงบประมาณของรัฐบาล ควรทำให้เกิดการจ้างงานที่มากขึ้น มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานผ่านการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ ขณะเดียวกัน นโยบายการเงินอาจเข้ามาช่วยเสริมได้ ในแนวทางอัตราดอกเบี้ยขาลง ซึ่งจะช่วยเสริมภาวะเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวลงมาก



           ต้องดูจังหวะและเวลาว่า ธปท.จะดำเนินการอย่างไร เพราะตอนนี้ สถานการณ์ที่สหรัฐขึ้นกำแพงภาษีสูง เริ่มคลายตัวลงแล้ว จากที่มีการผ่อนผันล่าสุด 90 วัน ดังนั้น ความจำเป็นเร่งด่วนของการลดดอกเบี้ยของไทย อาจไม่จำเป็นต้องลดเร่งด่วนภายในรอบการประชุมสิ้นเดือนนี้ (30 เม.ย.) หรือใน 1-2 เดือนนี้ แต่ถ้ามีความจำเป็นเมื่อไร ก็จะต้องรองรับและสอดคล้องกับนโยบายการคลังด้วย



 



#ความเชื่อมั่นผู้บริโภค

ข่าวทั้งหมด

X