อดีตผู้ว่า สตง. ชี้ผู้รับเหมาต้องรับผิดชอบ เหตุ ตึก สตง.ถล่มหลังแผ่นดินไหว

11 เมษายน 2568, 13:48น.


         หลังเกิดแผ่นดินไหว ส่งผลทำให้อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหรือ สตง.พังถล่มขณะกำลังก่อสร้าง นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวถึงกรณ รองผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประเด็นที่บอกว่า “สตง. ไม่รู้ว่ามีบริษัทจีนมาก่อสร้างตึก สตง.แห่งใหม่ นึกว่ามีแต่อิตาเลียนไทย” นายพิศิษฐ์ บอกว่า การตอบคำถามของรองผู้ว่าฯ สตง. เมื่อวานนี้เชื่อว่า ยังอยู่ในสภาวะกดดันต้องไปชี้แจงกับหลาย กมธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเวลาพูดอาจจะไม่ได้พูดให้ละเอียด ซึ่งถ้าจะบอกว่าไม่รู้ว่ามีบริษัทในประเทศจีนมาร่วมค้ากับบริษัทอิตาเลียนไทยฯ มันเป็นไปไม่ได้เลย



           แต่ส่วนตัวคิดว่าที่เขาอาจจะหมายถึงว่า บริษัทจีนที่มาร่วมค้ากับอิตาเลียนไทยไม่ได้เป็นบริษัทนอมินี สำนักงาน สตง. อาจจะคิดว่า การดำเนินการก่อสร้างบริษัทอิตาเลียนไทยเป็นผู้ดำเนินการหลัก ส่วนบริษัทไชน่าเรลเวย์น่าจะอยู่ข้างหลัง เพราะเขาเป็นผู้มาร่วมทุนเท่านั้น



          สำหรับประเด็นที่บริษัทไชน่าเรลเวย์เป็นบริษัทที่มีนอมินีเชื่อว่าหลายคนไม่ทราบ ซึ่งในกระบวนการจัดทำสัญญาตอนนั้นก็คงไม่มีใครตอบได้ชัดเจน เพราะทุกคนก็คิดว่าบริษัทอิตาเลียนไทยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่ประเด็นนี้ถ้ามีการตรวจสอบในเอกสารการเบิกเงินที่คนคุมงานเขารับรองให้มีการเบิกจ่ายเงินในแต่ละงวดมันจะชัดเจนอยู่ในเอกสารว่าอิตาเลียนไทยกับบริษัทไชน่าเรลเวย์แบ่งสัดส่วนงานกันอย่างไร แต่ที่สำคัญหน้างานจะรู้ดีที่สุดว่าการดำเนินการก่อสร้างเป็นงานของบริษัทใด ซึ่งจากที่มีข่าวว่ามีตัวแทนผู้รับเหมามาทวงเงินประเด็นนั้นก็บ่งบอกว่าเขาทวงเงินกับบริษัทใด



          ส่วนตัวไม่ได้ออกมาแก้ตัวแทน แต่รู้ปัญหาที่มันเกิดขึ้นภายใน ซึ่งผู้บริหาร สตง. จะปฏิเสธไม่ได้ว่าการก่อสร้างครั้งนี้มีบริษัทไชน่าเรลเวย์มาร่วมด้วย ซึ่งความจริงต้องบอกว่า สตง.ไม่ทราบว่าบริษัทไชน่าเรลเวย์เป็นบริษัทนอมินี อีกทั้งคิดว่าทางผู้บริหารอาจจะไม่ได้ระวังว่าบริษัทอิตาเลียนไทยมีการขายหัวกันหรือไม่ ซึ่งเรื่องพวกนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบ สตง.ต้องมีการตรวจสอบให้กระจ่าง



          สำหรับ ส่วนกระบวนการที่จะรับเซ็นสัญญายังยืนยันว่า เป็นไปตามระเบียบขั้นตอน เนื่องจากคุณสมบัติบริษัทที่ถูกต้องทางบริษัทหลักและบริษัทร่วมค้า แต่ตอนนั้นไม่ทราบได้ว่าบริษัทร่วมค้าเป็นบริษัทนอมินี ทำให้ สตง.ไม่สามารถตัดสิทธิ์ใครได้เพราะถ้าไม่มีหลักฐานแล้วไปปัดตกอาจจะถูกฟ้องร้องได้อีก แต่เมื่อเข้างานก่อสร้างผู้ควบคุมงานต้องตรวจสอบแทน สตง. ว่ามีการใช้วัสดุก่อสร้าง หรือขั้นตอนถูกต้องหรือไม่ ซึ่งในขั้นตอนนี้ถือว่าอยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับเหมา และคนควบคุมงานปฏิบัติหน้าที่แทนเราได้ดีหรือไม่ เนื่องจากมันมีประเด็นและกระแสข่าวว่า ผู้คุมงานมีส่วนเกี่ยวข้องกับ พล.อ.ชนะทัพ ประธานคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน ประเด็นนี้ส่วนตัวไม่มีข้อมูลแต่จากการติดตามข่าวข้อมูลนี้ออกมาจากคนภายใน สตง. ซึ่งเชื่อได้ว่าอาจจะมีข้อมูลอยู่บ้างก็ต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงค้นหาคำตอบว่าเป็นแบบนั้นหรือไม่



          ส่วนที่รองผู้ว่าฯ สตง. บอกว่าถ้าเกิดให้ สตง.ตรวจกันเองเรื่องก็น่าจะยุติ ส่วนตัวก็ไม่ได้เห็นด้วยเพราะการตรวจสอบแม้ว่าขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างจะถูกต้องตามระเบียบ แต่สาเหตุการพังถล่มของอาคารก็ต้องหาข้อเท็จจริงให้เจอว่าเกิดจากสาเหตุอะไรใครต้องรับผิดชอบ



          ซึ่งหากจะถามหาคนรับผิดชอบ อดีต ผู้ว่าฯ สตง.ระบุว่า ตอนนี้อาคารยังอยู่ในความรับผิดชอบของผู้คุมงาน ผู้ก่อสร้าง และผู้ออกแบบ ซึ่งสามกลุ่มนี้ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ก็ต้องรอกระบวนการตรวจสอบหาสาเหตุว่ามันเกิดจากอะไร ผิดพลาดในขั้นตอนไหน สิ่งนั้นจะเป็นคำตอบว่าใครต้องรับผิดชอบ ส่วน สตง.เป็นผู้ว่าจ้างและกระบวนการว่าจ้างก็ถูกต้องตามระเบียบ แต่จะมีเบื้องลึกเบื้องหลังในการแทรกแซงของผู้บริหารชุดเก่าหรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะการอนุมัติงบประมาณขั้นสุดท้ายไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯ สตง.คนเดียว



          คนที่ใหญ่กว่าคือประธาน คตง. ที่จะอนุมัติเห็นชอบงบประมาณในการก่อสร้างครั้งนี้ ดังนั้นที่เมื่อวานนี้ประธาน คตง. ออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะโครงการจะผ่านหรือไม่ผ่านก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งตอนเซ็นสัญญากับบริษัทอิตาเลียนไทย และไชน่าเรลเวย์ คตง.ก็ไปร่วมและถ่ายภาพเป็นสักขีพยานด้วย ดังนั้นต้องรับผิดชอบร่วมกัน.



 



#สตงถล่ม



แฟ้มภาพ

ข่าวทั้งหมด

X