นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การเดินทางไปเจรจากับสหรัฐอเมริกา เรื่องนโยบายภาษีศุลกากร ยืนยันว่าทางสหรัฐอเมริกาตอบรับแล้ว แต่ยังไม่ได้กำหนดวัน คาดว่าจะได้เจรจาภายในสัปดาห์หน้า โดยคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาจะเป็นตัวแทนในการเจรจา พร้อมทั้งกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่จะไปเจรจาด้านพลังงาน รวมทั้งภาคเอกชนด้วย
สำหรับการเจรจากับสหรัฐครั้งแรกนั้น เบื้องต้นจะเน้นเรื่องของการเพิ่มการค้าระหว่างไทยสหรัฐ โดยไทยนำเข้าสินค้าเพิ่ม ทั้งนำเข้าเพื่อบริโภคในประเทศและเพื่อส่งออก ดังนั้น ไม่ใช่การลดส่งออกหรือการขายสินค้าแน่นอน หากมีการทำการค้ากันมากขึ้นสัดส่วนที่สหรัฐขาดดุลไทยก็จะลดลง โดยสินค้าที่จะนำเข้าคือ สินค้าเกษตร และพลังงาน สินค้าเกษตรอาทิ ข้าวโพด กากถั่วเหลือง เพื่อนำมาผลิตอาหารสัตว์แปรรูปเพื่อส่งออกให้มากขึ้น ซึ่งได้หารือกับเกษตรกรไทยเรียบร้อยแล้ว
ส่วนด้านพลังงาน จากผลของการหารือ ระหว่างกระทรวงการคลังกับ ปตท.ได้ข้อสรุปว่าประเทศไทย โดย ปตท.จะเสนอแผนการนำเข้าพลังงานจากสหรัฐเพิ่มขึ้น โดยปี 2569 จะทำสัญญานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) 1 ล้านตัน มูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ระยะสัญญา 15 ปี และนำเข้าก๊าซอีเทน 4 แสนตัน มูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งยังมีแผนระยะยาวจะมีการซื้อแอลเอ็นจีต่อเนื่อง ในอีก 5 ปีข้างหน้า แทนสัญญาที่จะทยอยสิ้นสุดลง
สำหรับ หารือร่วมกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงผลกระทบต่อภาคการเงินไทย หลังจากที่สหรัฐอเมริกาออกมาตรการภาษีตอบโต้ เบื้องต้นเป็นการรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน และร่วมกันหามาตรการรองรับ ตลาดเงินของไทยถือว่าค่อนข้างนิ่ง เพราะมีลักษณะไม่เหมือนประเทศอื่น คือไม่มีเงินกองทุน แต่ไทยเราเอาเงินรวม มีศูนย์กลางการบริหารที่ ธปท. ส่วนวิธีการบริหารก็ไม่หวือหวา ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็ยังไม่ได้ขายดอลลาร์ออกไป แปลว่ายังคงมีความเชื่อมั่นต่อสหรัฐ
ส่วนการจะต้องให้ ธปท.พิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปลายเดือนนี้ หรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ยังไม่พิจารณา เพราะสถานการณ์ในตอนนี้เรายังอ่านไม่ออก ประเทศใหญ่ๆ เองก็ยังชุลมุนกันว่าจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่การแทรกแซงค่าเงินนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขาไม่ทำกัน ต้องปล่อยไปตามกลไก
ส่วนจะให้ ธปท.เอาเงินสำรองออกมาใช้หรือไม่นั้น ไม่ได้อยู่ในความคิด เพราะเงินสำรองที่มีนั้น เป็นตัวแบ๊กอัพสภาพคล่องการนำเข้าและส่งออก เวลารัฐบาลจะทำอะไร เราจะทำผ่านการเพิ่มงบประมาณมากกว่า