ศูนย์วิจัยข้อมูลการเมืองไทย จัดงานเสวนา “องค์กรอิสระ : ผ่าทางตันประเทศไทย? นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสสร. 2550 เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับการให้องค์กรอิสระและศาลมานั่งเป็นตัวกลาง หรือยื่นมาตรา 7 เนื่องจากไม่ได้มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะที่ อำนาจที่แท้จริงของสังคมไทยอยู่ที่ทหาร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ รวมถึงองคมนตรี ต้องเข้าร่วมแก้ปัญหาด้วยกันวว่าจะทำอย่างไร ลำพังศาลต่างๆ ไม่พอ เพราะไม่มีอำนาจโดยตรง
นายเสรี เสนอให้ องคมนตรีคนใดคนหนึ่ง ลาออกมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนกลาง แต่ไม่แน่ใจว่า องคมนตรีจะรับข้อเสนอนี้หรือไม่ หรือ อีกวิธี ที่ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 7 คือการให้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ตั้งรองนายกรัฐมนตรีที่ทุกฝ่ายยอมรับขึ้นมา แล้วให้รักษาการนายกฯ แทน หลังจากนั้น ให้ครม.ชุดปัจจุบันลาออกทั้งหมด โดยหลังจากนั้นให้ รักษาการนายกฯ ตั้งครม.ชุดใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศ โดยกำหนดกรอบการปฏิรูป และรักษาการต่อไป
นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตกกต. กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะในเมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาออกมาแล้ว ทางออกเดียวก็คือเดินหน้าเลือกตั้งต่อไป ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้องค์กรอิสระ ร่วมกันหาทางออก หรือเป็นผู้เสนอนายกรัฐมนตรี มาตรา 7 ด้วยตัวเอง เนื่องจากอยู่นอกกรอบรัฐธรรมนูญ และจะสูญเสียความเป็นกลาง รวมถึงทำให้ถูกมองว่าองค์กรเหล่านี้เลือกข้าง
ขณะที่ นายเจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ กล่าวว่า อาจมีปัญหาหากยื่นมาตรา 7 ตามแนวทางของกปปส. เพราะเปรียบเสมือนการนำทางตันไปทูลเกล้าฯ และโดยสภาพแบบนี้ ซึ่งมีคนกลุ่มหนึ่งจาบจ้วงสถาบัน ยิ่งเป็นไปได้ยาก ส่วนการให้ ประธานวุฒิสภา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุด เลือกนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 นั้น นายเจษฎ์บอกว่าทำไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นไปตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่เคยเป็นประเพณีที่เคยปฏิบัติว่า ประธานศาลสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้