*เมืองไทยวันนี้ 8.30 น.*

19 พฤษภาคม 2557, 08:58น.


จากเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ทำให้เกิดอาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่องมานานกว่า 2 สัปดาห์มากกว่า 800 ครั้ง นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ กพฐ.เปิดเผยว่า มีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาได้รับความเสียหายตั้งแต่แผ่นดินไหวครั้งแรก 22 แห่ง เสียหายหนักที่สุด 3 แห่ง และผลจากอาฟเตอร์ช็อกทำให้มีโรงเรียนเสียหายเพิ่มเป็น 25 แห่ง วิศวกรแจ้งว่าต้องรื้อและสร้างใหม่ประมาณ 20 แห่ง โดยจัดลำดับการดำเนินการเป็น 3 ช่วง อันดับแรกคือ จัดสรรงบประมาณก้อนแรกเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าภายในวันที่ 20-21 พฤษภาคม ขั้นที่สองคือ งบประมาณที่จะใช้สร้างอาคารเรียนชั่วคราว โดยเฉพาะโรงเรียน 20 แห่ง และขั้นสุดท้ายคือ การสร้างและซ่อมแซมทั้งหมดต่อไป โดยการก่อสร้างอาคารเรียนใหม่มีการออกแบบเพื่อรองรับ แผ่นดินไหวจำนวน 2 รูปแบบ



เลขาธิการ กพฐ.เปิดเผยด้วยว่า ในโอกาสตามเสด็จฯสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำรัสว่า จะช่วยสร้างอาคารเรียนที่เสียหายที่โรงเรียนแม่ลาววิทยาคม หรือโรงเรียนพานพิทยาคม และให้รองราชเลขานุการ ไปดูพื้นที่แล้ว



ติดตามเรื่องโครงการรับจำนำข้าว สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้รายงานให้ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รักษาการ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทราบว่าไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์จำนวน 60,000 ล้านบาท เพื่อมาจ่ายค่าข้าวให้กับชาวนา เพราะเป็นการสร้างหนี้ผูกพันให้กับรัฐบาลใหม่ และอาจกระทบกับสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับกระทรวงการคลัง จึงไม่ควรเสี่ยงที่จะดำเนินการเรื่องนี้อีก โดยยืนยันแนวทางเดิมคือการขายข้าวในโกดังเพื่อนำเงินมาจ่ายหนี้จำนำข้าวเป็นทางที่ดีที่สุด เพราะไม่ผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลต้องยอมรับผลขาดทุน



ในวันนี้และวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมของทูตพาณิชย์ ซึ่งนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริม การค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ทูตพาณิชย์ 64 แห่งทั่วโลก หน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 30 องค์กร อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)  สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือ แห่งประเทศไทย สมาคมด้านการค้าสินค้าและบริการ จะร่วมประชุมเพื่อพิจารณาแผนงานโครงการส่งเสริมการค้าช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 พร้อมกำหนดแผนงานเบื้องต้นในปี 2558 เพื่อเป็นกรอบ ร่างงบประมาณประจำปี 2558



จากนั้นในวันที่ 21 ทูตพาณิชย์จะนำคณะผู้ซื้อ ผู้นำเข้า สินค้าอาหารและบริการที่เกี่ยวข้องหลายร้อยราย เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร (ไทยเฟ็กซ์ 2557) โดยรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ปลัดกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมลงนามในข้อตกลง หรือเอ็มโอยู 2 ฉบับ



ส่วนเรื่องภัยแล้งนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ระยะที่ 2 ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน ประจำปีงบประมาณ 2557 เพื่อให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ซึ่งพบปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ ปัญหาฝนทิ้งช่วง ปัญหาอุทกภัย และปัญหาศัตรูพืชระบาด โดยช่วงที่ผ่านมามีปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรรวม 17 จังหวัด ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของข้าวและพืชไร่ มีจังหวัดที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี



อย่างไรก็ตามยังมี 49 จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังปัญหาน้ำท่วมขัง จังหวัดที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ ลพบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สระบุรี ชัยภูมิ พิจิตร อุทัยธานี และสงขลา



และปิดท้ายที่สถานการณ์โรคมือเท้าปากระบาดศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล ซึ่งนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการติดตามประเมินสถานการณ์ในรอบ 10 ปี พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 0-4 ขวบ ในศูนย์เด็กเล็ก หรือโรงเรียนอนุบาล โดยจะพบมากขึ้นในเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม กับประมาณเดือนธันวาคม จึงมอบให้กรมควบคุมโรคติดตามเฝ้าระวังโรคนี้อย่างใกล้ชิด และกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกแห่ง ประสานขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศดูแลศูนย์เด็กเล็กซึ่งมีประมาณ 20,000 แห่ง และประสานงานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดูแลโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษา ให้ดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการป้องกันควบคุมโรคตามที่กำหนด



 



*-*

ข่าวทั้งหมด

X