ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 เวลา 03.00 น.เป็นต้นไป โดยอ้างถึงประกาศพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ปี 2457 ที่ให้ประกาศใช้ได้ในกรณีที่เกิดเหตุความไม่สงบขึ้น
โดยในการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ฉบับที่ 1/2557 ซึ่งลงนามโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ระบุว่า มีการชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และมีการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงด้วยการใช้อาวุธสงครามต่อประชาชน และสถานที่สำคัญ เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ เสียชีวิตได้รับบาดเจ็บและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง ทั้งมีแนวโน้มจะเกิดเหตุการณ์จลาจล และความไม่สงบเรียบร้อย จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 2 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457 ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 เวลา 03.00 น. เป็นต้นไป
ต่อมากองทัพบกออกประกาศฉบับที่ 2/2557 เรื่องการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ขึ้นมาลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก อ้างอำนาจตามมาตรา 2 และมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้ดำเนินการดังนี้ คือ ให้จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) โดยมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) และให้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ยุติการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 20 พ.ค. 2557 เวลา 03.00น. และให้กำลังของหน่วยต่างๆ ตามโครงสร้างการจัดของ ศอ.รส. (เว้น กำลังของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ) กลับที่ตั้ง เพื่อไปปฏิบัติภารกิจตามปกติของแต่ละหน่วย และให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทั้งตำรวจและทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ รวมถึงกระทรวงมหาดไทย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ส่งมอบกำลังในอัตราให้ขึ้นควบคุมทางยุทธการแก่ กอ.รส. ทั้งหมด
จากนั้นออกประกาศฉบับที่ 3 หรือ 1/2557 ในนามกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์ และสถานีวิทยุชุมชน ระบุว่า เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง สามารถติดต่อสื่อสารระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้อย่างต่อเนื่องทันต่อสถานการณ์ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และ มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 จึงให้สื่อต่างๆ งดรายการประจำของสถานีและให้ถ่ายทอด ออกรายการจากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก
และฉบับที่ 4 หรือ 2/2557 ในนามกอ. รส.เกี่ยวกับการจำกัดพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มต่างๆ โดยกปปส.ชุมนุม ถนนราชดำเนิน และศูนย์ราชการ ส่วนกลุ่มนปช.ชุมนุมที่ถนนอักษะ
โดยในเช้าวันนี้ ผู้บัญชาการกองทัพบก เชิญหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ไปรายงานตัว ที่ สโมสร ทบ.วิภาวดี จากนั้นมีการแจ้งให้ไปรายงานตัวในช่วงบ่ายวันนี้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ชุมนุมทั้ง 2 กลุ่ม คือทั้ง กปปส. และ นปช. ต่างก็มีท่าทีที่แตกต่างกันโดยกลุ่ม กปปส. โดย นายเอกณัฐ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. แจ้งว่า สืบเนื่องจากการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อเวลา 3.00 น. ที่ผ่านมา ทาง กปปส. จะงดการเคลื่อนไหวชั่วคราวในวันนี้ เพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป
ส่วน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค ว่า นปช.แดงทั้งแผ่นดินยังยืนยันจะชุมนุมที่อักษะต่อไป รอดูทาง ผบ.ทบ.ว่าจะแถลงว่าอย่างไร แต่ขอให้พี่น้อง อดทนและมีสติ ไม่มีอะไรแน่นอน เราทุกคนยังเป็นเพื่อนตายกันและกันในการต่อสู้ ขอให้พี่น้องอย่าตืนตระหนก ขอให้ใช้การทักทายทหารในตอนเช้าด้วยความเป็นมิตร และยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงความตั้งใจในการต่อสู้
ด้านวุฒิสภา วันนี้ยังมีการประชุมตามปกติ เช่นเดียวกับการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่ง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้งด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง จะเสนอที่ประชุมทำหนังสือสอบถามไปยังรัฐมนตรีที่กำกับดูแลช่อง 11 เรื่องการถ่ายทอดการอภิปรายของกลุ่มนักวิชาการ เมื่อวันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม ระหว่างเวลา 18.00-19.00 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ว่า เป็นคำสั่งถ่ายทอด ของใคร และใช้เงินในการดำเนินการเท่าใด เนื่องจากเนื้อหาที่นำเสนอเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และมีการเสนอข้อมูลที่สร้างความแตกแยกและความสับสนต่อประชาชน
ส่วนเรื่องที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สรส. นัดหยุดงานในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตลอดจน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ต่างยืนยันการให้บริการตามปกติ แต่หากจะไปเข้าร่วมการชุมนุมก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล
ส่วนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งให้สมาชิก 15,000 คน ลาหยุดงานตั้งแต่วันที่ 22-26 พ.ค.
ยังมีความเคลื่อนไหวด้านเศรษฐกิจ นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม อนุกรรมการบีโอไอมีการประชุมเพื่อกลั่นกรองโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนที่มูลค่าลงทุนสูงกว่า 750 ล้านบาทต่อโครงการ จำนวน 10 กว่าโครงการ มูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อส่งให้บอร์ดบีโอไอชุดใหญ่อนุมัติส่งเสริมการลงทุนต่อไป โดยมีอุตสาหกรรมทั้งกลุ่มยานยนต์ บริการ เกษตรแปรรูป ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
และจากเหตุจลาจลในเวียดนามที่มีการเคลื่อนไหว ต่อต้านจีน นางอุษา ไวยเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานอุตสาหกรรมของไทยในเวียดนามหลายแห่งปิดกิจการชั่วคราว โดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมทางตอนใต้ ที่มีโรงงานไทยตั้งอยู่ โดยพบว่ามีผู้ประท้วงบุกรุกเข้ามาที่โรงงาน แต่เมื่อทราบว่าเป็นโรงงานคนไทย ก็ไม่ได้ทำร้ายพนักงานและไม่ได้ทำลายสิ่งของ ล่าสุด มีตำรวจเข้าไปดูแลความสงบในพื้นที่นิคมฯ แล้ว
ด้านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยติดลบในไตรมาสแรกเนื่องจากปัญหาการเมือง การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจหดตัวลงต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน การใช้จ่ายของภาครัฐในส่วนของรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายลงทุนทรุดหนัก
ขณะที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รายงานว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้างสิ้นเดือนมีนาคม 2557 อยู่ที่ 5 ล้าน 5 แสน 5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.07 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 1 หมื่น 3 พัน 5 ร้อยล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้นสุทธิ 11,953 ล้านบาท
และปิดท้ายที่ ประกาศของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีการเปิดบัญชีกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบแผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย บูรณะวัด บ้าน โรงเรียนและโรงพยาบาลที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวในภาคเหนือตอนบน และออกสลากออมทรัพย์ทวีสิน ธ.ก.ส. ชุดใหม่ จำนวน 60 ล้านหน่วย เพื่อนำไปสมทบช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ความเคลื่อนไหวในต่างประเทศ เริ่มจากเหตุชุมนุมต่อต้านจีนในเวียดนาม ทำให้จีนส่งเรือไปรับแรงงานกลับ เนื่องจากการชุมนุมทำให้มีคนงานชาวจีนเสียชีวิตแล้ว 2 ศพ บาดเจ็บอีก 140 คน นอกจากนี้ทางการจีนยังประกาศระงับโครงการความร่วมมือทวิภาคีกับเวียดนาม เพราะเวียดนามไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ จนเป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินชาวจีน รวมถึงชาวต่างชาติ
ส่วนฟอร์โมซา พลาสติก กรุ๊ป บริษัทจากไต้หวันเตรียมเรียกร้องขอค่าชดเชยจากรัฐบาลเวียดนาม เนื่องจากโรงงานในจังหวัดฮาตินห์ถูกผู้ประท้วงวางเพลิง ทำลายเครื่องจักร และทำร้ายคนงานชาวจีน
อัสตร้าเซเนก้า บริษัทยาของอังกฤษปฏิเสธข้อเสนอควบรวมกิจการมูลค่า 117 พันล้านดอลลาร์ (ราว 3,510 พันล้านบาท) จากไฟเซอร์ บริษัทยาของสหรัฐ ซึ่งเป็นคู่แข่ง โดยให้เหตุผลว่าไฟเซอร์ประเมินอัสตร้าเซเนก้าต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ถือหุ้น และความไม่มั่นคงของกิจการบริษัท โดยหลังจากมีข่าวการควบรวมกิจการ หุ้นของอัสตร้าเซเนก้า ตกราวร้อยละ 14 ขณะที่นักการเมืองและสหภาพแรงงานในอังกฤษแสดงความกังวลก่อนหน้านี้ว่า การควบรวมกิจการของ ไฟเซอร์อาจทำให้เกิดการลดการจ้างงาน และย้ายศูนย์การทำวิจัยและพัฒนาออกไปจากอังกฤษ จนกระทบกับเศรษฐกิจได้
ส่วนสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลนส์ขาดทุนหนัก เนื่องจากผลประกอบการเมื่อเดือนมกราคม – มีนาคมขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น และมีมูลค่าตลาดในปีนี้ลดลงถึงร้อยละ 40 โดยนับตั้งแต่เกิดเหตุเที่ยวบิน เอ็มเอช 370 สูญหายไป ก็มีการยกเลิกการจอง และยอดขายในจีนตกลงถึงร้อยละ 60
*-*