สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง ยังคงติดตามสถานการณ์การเมืองไทย จากการที่กองทัพประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรเพื่อควบคุมสถานการณ์ เนื่องจากมีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านยืดเยื้อมานาน 6 เดือนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลก็ต้องการความสงบเช่นกัน และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล ระบุว่า กฎอัยการศึกไม่มีผลต่อการเคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาล ซึ่งนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้ทุกกลุ่มร่วมกันสร้างความสงบให้เกิดขึ้น เพราะความสงบจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีความศรัทธา และมีความร่วมมือกันผลักดันกระบวนการประชาธิปไตย
นายโจนาธาน เฮด นักวิเคราะห์จากสำนักข่าวบีบีซีในกรุงเทพฯ ระบุว่า กฎอัยการศึกไม่ใช่รัฐประหารและเป็นความพยายามที่จะแสวงหาความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น ซึ่งผู้ชุมนุมทั้ง 2 กลุ่ม คือ กปปส. และ นปช.ต่างก็ยอมรับคำประกาศของผู้บัญชาการทหารบก อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ เห็นว่า ปัญหาการเมืองไทยยืดเยื้อมานาน 8 ปีหากทหารยึดครองอำนาจไว้แล้วไม่สามารถให้คู่ขัดแย้งร่วมโต๊ะเจรจาแก้ไขปัญหาได้ หรือครองอำนาจไว้เป็นเวลานาน ย่อมทำให้ฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาลไม่พอใจแล้วก่อเหตุจลาจลขึ้น
ส่วนนายแอนดรู มาร์แชลล์ ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็น เห็นว่าการที่กองทัพประกาศกฎอัยการศึกในเวลากลางคืนเป็นเจตนาที่จะลดความยุ่งยากและลดการปะทะกัน ทั้งระบุว่า การใช้กฎอัยการศึกคือการกันกำลังตำรวจจากการรักษาความปลอดภัย จากที่ผ่านมา ตำรวจไทยถูกมองว่าให้การสนับสนุน พันตำรวจโททักษิณ ชันวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้สนับสนุน
ส่วนนายพอล ไวยา ผู้อำนวยการบริษัทประเมินความเสี่ยง พีคิวเอ ซึ่งมีสำนักงานในกรุงเทพฯ เปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า แม้จะมีทหารประจำการในหลายพื้นที่ แต่ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น และเขาเห็นว่า สิ่งที่ทหารต้องการคือการโน้มน้าวให้ผู้ประท้วงกลับบ้าน ลดทอนแนวโน้มความรุนแรงที่จะมีการยกระดับการชุมนุมทั้งจำนวนผู้ชุมนุม และการนัดหยุดงาน ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตาคือ ปฏิกิริยาของผู้ประท้วง ซึ่งเขาเชื่อว่ากฎอัยการศึกไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเมืองไทยที่เป็นปัญหาเรื้อรัง มีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างรุนแรง และเชื่อเช่นกันว่ากองทัพจะไม่เข้ามายึดครองอำนาจทางการเมือง
....F163....