เมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง และพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าวภายหลังรับประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่า ได้กำหนดการทำงานเป็น 2 ระดับ และทุกส่วนงานกำลังเข้ามาประจำใน คสช. เพื่อร่วมคณะประสานงานทั้งหมด 7 คณะ และจะเร่งรัดดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทุกคน
ส่วนเรื่องการเรียกบุคคลต่างๆ มารายงานตัวนั้น เป็นการเรียกมารายงานตัวเพื่อทำความเข้าใจ สงบสติอารมณ์ สร้างความเข้าใจระหว่างกัน เพราะความขัดแย้งเหล่านั้นเป็นอันตรายต่อประเทศชาติและประชาชนโดยยืนยันว่าไม่ได้หวังที่เข้าสู่อำนาจ เพื่อมีอำนาจ มีประโยชน์ แต่มีเหตุผล และความจำเป็นที่กล่าวไปหลายครั้งแล้วและจะนำบทเรียนในอดีตมาทบทวน และแก้ไข ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต
ส่วนที่ถามว่าจะบริหารงานไปจนถึงเมื่อไหร่ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคน ต้องไม่ขยายความขัดแย้ง ซึ่งถือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อย และว่าหากขยายความขัดแย้งต่อไปเรื่อยๆ จะเกิดผลกระทบในวงกว้าง และจะกลับวนเวียนไปสู่อันเก่า
และในวันนี้ยังมีบุคคลอีก 16 คนที่ถูกเรียกให้ไปรายงานตัว
ในวันนี้นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ จะเสนอปฎิทินงบประมาณต่อ คสช. เพื่อให้ประกาศใช้งบประมาณประจำปี 2558 ได้ทันกำหนด 1 ตุลาคมปีนี้ ซึ่งเดิมนั้นการพิจารณางบประมาณอาจล่าช้าออกไปจนถึงช่วงต้นปีหน้า แต่เนื่องจากไม่มีทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะทำให้ขั้นตอนการจัดทำงบประมาณรวดเร็วขึ้น โดยขณะนี้สำนักงบประมาณได้ทำงบเสร็จไปแล้วเกินครึ่ง ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ งบใช้จ่ายจำเป็นขั้นต่ำสุด งบที่มีภาระสัญญาผูกพัน และงบภาระกิจพื้นฐานของกระทรวง และ หน่วยงานต่างๆ โดยมีการส่งคำขอเข้ามา จำนวน 4 ล้านล้านบาท และวงเงินงบประมาณปี 2558 คาดว่าจะไม่เกิน 2 ล้าน 6 แสนล้านบาท โดยเป็นงบประมาณขาดดุล 200,000 ล้านบาท และน่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจปีหน้าให้เติบโตได้ร้อยละ 6 โดยโครงการรถไฟรางคู่ ในหมวดการลงทุน โลจิสติกส์ คาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณปีหน้า และยังยึดกรอบการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และการสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงอาจจะยังไม่ใส่ไว้ในโครงการการลงทุน
ส่วนการที่ คสช. เชิญปลัดกระทรวงในสายงานเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมหารือแนวทางการบริหารราชการ เกี่ยวกับโครงการเร่งด่วน หรือโครงการที่ดำเนินการล่าช้า ที่จะสร้างความเสียหายให้แก่ภาครัฐ ทางกลุ่มเศรษฐกิจตกลงกันว่าจะประชุมรูปแบบคล้ายการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยจะมีการประชุมกลั่นกรองโครงการทุกวันอังคาร และพิจารณาโครงการทุกวันพฤหัสบดี โดยจะเริ่มประชุมเป็นทางการนัดแรกวันนี้
ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. นัดประชุม 7 องค์กรเอกชนเพื่อหารือ7 แนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อเสนอให้คสช. พิจารณาเรียกความเชื่อมั่นจากต่างชาติฟื้นกลับมา
ส่วนกระทรวงพลังงานเตรียมเสนอโครงการเร่งด่วนต่อ คสช. คือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะโรงทดแทนหน่วยที่ 4-7 กำลังผลิตรวม 600 เมกะวัตต์และก่อสร้างสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ (kV) จากภาคกลางสู่ภาคใต้
และที่คสช. และทางสำนักงานตำรวจประกาศเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน คือการตรวจสอบการเผยแพร่ข้อความ และการแสดงความเห็นผ่านทางโซเชี่ยลมีเดีย ซึ่งนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช.ได้ประชุมหารือกับคสช. และผู้ให้บริการวงจรเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตต่างประเทศ จำนวน 15 ราย เพื่อขอความร่วมมือตรวจสอบเนื้อหาผ่านอินเทอร์เน็ต โดยจะมีการส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมการทำงาน ปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาปลุกปั่น ยั่วยุ และหมิ่นสถาบัน
*-*