การประเมินรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 13-17 เมษายนนี้ คาดว่าประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 15,160 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 18 จากปี 2558 และมีนักท่องเที่ยว 2.64 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ซึ่งในที่นี้จะแยกเป็นรายได้จากตลาดในประเทศ 6,980 ล้านบาท ส่วนตลาดต่างประเทศ สร้างรายได้ประมาณ 8,180 ล้านบาท และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวในไทย 4.59 แสนคน เติบโตร้อยละ 26 และคาดว่าจะมีค่าเฉลี่ยการใช้เงิน 16,525 บาทต่อการเดินทาง
สำหรับบรรยากาศการโชว์ริ้วขบวน "มหัศจรรย์ มรดกจารึก 3 แผ่นดิน" ขณะนี้ก็เป็นไปอย่างสนุกสนาน มีประชาชนเข้าร่วมชมและถ่ายภาพกันอย่างคึกคัก โดยการแสดงจะแบ่งเป็น จารึกริเริ่ม รัชสมัยที่ 3 : ศิลาจารึกมรดกโลก (รัชกาลที่ 3) เป็นการเล่าขานตำนานสงกรานต์ ที่กล่าวถึงเรื่องราวตำนานธรรมบาลกุมาร กับนางสงกรานต์ทั้ง 7 ที่ถูกจารึกในแผ่นศิลา 7 แผ่นบนผนังกำแพงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์), จารึกแผ่นดิน รัชสมัยที่ 5 : 13 เมษาสงกรานต์ไทย (รัชกาลที่ 5) ที่เป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันสงกรานต์และสุดท้ายคือจารึกเพื่อนบ้าน รัชสมัยที่ 7 : ซึ่งเป็นการฉลองสงกรานต์เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งจากรัชสมัยได้ถ่ายทอดเป็นขบวนแห่ร่วมด้วยนักแสดงกว่า 1,200 คน โดยการแสดงมี 3 ตอนแบ่งเป็น 4 ขบวน ได้แก่ ขบวนที่ 1 ศิลาจารึกมรดกไทย เป็นการเชิญตราสัญลักษณ์การจัดงาน โดยพระเอกหนุ่ม เต้ย พงศกร เมตตาริกานนท์ และศิลาจารึกวัดโพธิ์ ขบวนที่ 2 ขบวนรถธรรมบาลกุมาร โดยนักแสดงหนุ่มเพ็ชร ฐกฤต ตวันพงค์ และนางสงกรานต์ทั้ง 7 โดยนางเอกชื่อดัง แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ แสดงเป็นนางสงกรานต์ วันพุธ นาม มณฑาเทวี ขึ้นมาบนหลังคัทรภะ (ลา)
ส่วนขบวนที่ 3 ก็เป็นทัศนามหาสงกรานต์วิถีไทย 5 ภาค ส่วนขบวนสุดท้าย เป็นขบวนความสัมพันธ์สองแผ่นดินของสองฝั่งโขง ระหว่างไทยกับลาว เป็นการนำเสนอความสัมพันธ์ของพระธาตุสองแผ่นดิน ที่เชื่อมโยงระหว่างพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ที่เชื่อมความสัมพันธ์ด้วยสายสิญจน์ ไปยังพระธาตุศรีโครตบอง ประเทศลาว
นอกจากนี้ขบวนรถ มีการเชิญตราสัญลักษณ์ นำเอาศิลาจารึก เป็นการจำลองเรื่องราวตำนานจารึกสงกรานต์ ออกมาในรูปแบบของการแสดง มีกิจกรรมการสาธิตเครื่องสักการะล้านนา เป็นเรื่องราวของเครื่องสักการะของคนล้านนา ประกอบไปด้วยสิ่งของ 5 สิ่ง คือ สุ่มดอก หมากสุ่ม หมากเบ็ง ต้นผึ้งและต้นเทียน มีวัตถุประสงค์เพื่อการบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในวันปีใหม่ไทย ตามมาด้วยกิจกรรมการทำแป้งพวง ซึ่งเป็นเครื่องประทินผิว และเครื่องหอม เพื่อประดับศรีษะ มีกลิ่นหอม กิจกรรมสาธิตการทำกาละแม เป็นหนึ่งในขนมไทย 3 ชนิด ที่นิยมทำขึ้นในวันปีใหม่ไทยสมัยก่อน กิจกรรมสาธิตการทำข้าวแช่ ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองของชาวมอญ นิยมทำสังเวยเทวดาในช่วงวันตรุษ สงกรานต์ และปิดท้ายด้วยกิจกรรมสาธิตการทำข้าวตอก ซึ่งเป็นงานประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก ของอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร โดยชาวบ้านจะนำข้าวตอกมาร้อยเป็นพวงมาลัยสายยาวแทน "ดอกมณฑารพ" อันเป็นดอกไม้ทิพย์แห่งสรวงสวรรค์ แล้วจัดขบวนแห่ไปถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสาน โดยการแสดงดังกล่าว ถือเป็นการเปิดตัวเทศกาลเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ประจำปี 2559 อย่างเป็นทางการ
เจ้าหน้าที่ได้มีการเปิดถนนบริเวณโดยรอบลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์แล้ว ซึ่งการจราจรช่วงเย็นเป็นไปอย่างหนาแน่น ขณะที่ประชาชนได้เริ่มทยอยกลับกันบ้างแล้ว และบางส่วนก็ยังเดินเที่ยวชมงานกิจกรรมโดยรอบ
ผู้สื่อข่าว:สมจิตร์ พูลสุข