*สตช.ดีเดย์นโยบาย 5 จริง เน้น10 เส้นทางที่มีปัญหาจราจร*

09 มิถุนายน 2557, 18:24น.


+++วันนี้เป็นวันแรกที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) เริ่มมาตรการ"คืนผิวจราจรเพื่อประชาชน" คุมเข้มห้ามจอดรถในที่ห้ามจอด ตามนโยบาย5จริง คือ ล็อคจริง จับจริง ยกจริง ขังจริง และสุภาพจริง โดย พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ รอง ผบ.ตร. ลงพื้นที่ร่วมกับ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผบก.จร. และพล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น.ดูแลงานด้านจราจร สุ่มตรวจ2จุด คือ จุดแรก บริเวณตลาดไก่ ใกล้สี่แยกรัชดาคลองเตย ถ.พระราม4 ขาเข้า พบว่า ตำรวจสน.ในพื้นที่ได้ดำเนินการห้ามจอดไปตั้งแต่วันศุกร์ ทำให้จากเดิมพื้นที่ตรงนี้ที่เคยมีรถจอด1-2ช่องทาง และยังมีรถขนผักเข็นไปมาจำนวนมาก วันนี้ไม่มีแม้แต่คันเดียว รถสามารถสัญจรได้ไม่มีชะลอตัว



+++ต่อมาเป็นจุดที่สอง หน้าห้างฯฟอร์จูน ใกล้แยกพระราม9 ถ.รัชดาภิเษก ขาออก จุดนี้ตรงบริเวณที่มีการพ่นสีขาวเหลือง เป็นสัญลักษณ์หยุดรถได้ชั่วคราวแต่ห้ามจอด ปรากฏว่า มีรถจักรยานยนต์ จอดอยู่จำนวนมาก ขณะที่มาถึงตำรวจสน.พื้นที่ กำลังดำเนินการคล้องโซ่ และออกใบสั่งค่าปรับจำนวน 500บาทหลายใบ และขณะนั้นมีเจ้าของรถจักรยานยนต์คันหนึ่งเดินกลับมาที่รถและพบใบสั่ง กล่าวว่า ปกติได้จอดตรงนี้ประจำ เพราะคิดว่าไปทำธุระครู่เดียว แต่วันนี้โดนปรับก็จะไปจ่ายค่าปรับตามกฏหมาย



+++ด้าน พล.ต.อ.วุฒิ  เปิดเผยว่า จำนวนใบสั่งในข้อหาห้ามจอด แต่ละปีมีจำนวน400,000ใบ หรือคิดเป็นร้อยละ40ของใบสั่งทั้งหมด หรือเฉลี่ยมีรถวันละ100คันที่ถูกข้อหาจอด หากคิดพื้นที่ที่เสียช่องทางไปนับรวมได้มากถึง3-5กม. หลังจากนี้จะดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง เน้น10เส้นทางสายหลักที่มีปัญหาจราจร อาทิ สุขุมวิท เพชรบุรี พระราม2 พระราม4 ลาดพร้าว เหม่งจ๋าย และสุขสวัสดิ์ ตรงไหนจอดในที่ห้ามจอดจะยกทันที หรือหากยกไม่ได้ก็จะล็อคล้อ ซึ่งแต่ละจุดจะให้เป็นดุลพินิจของสน.ในพื้นที่เป็นคนกำหนดความเหมาะสม เช่น จุดรับส่งนักเรียน เป็นต้น



+++ส่วน พล.ต.ต.จิรสันต์  เปิดเผยว่า นโยบายยกรถในที่ห้ามจอด ดำเนินการมาโดยตลอดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี2556 แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้ต้องแบ่งกำลังตำรวจจราจรไปช่วยงานด้านอื่น หรือต้องดูแลการจราจรใกล้พื้นที่ชุมนุมด้วย อย่างไรก็ตามตอนนี้มีพื้นที่เป้าหมายจำนวนมากที่ต้องดำเนินการ หากประชาชนต้องการให้ข้อมูลหรือร้องเรียนรถจอดในที่ห้ามจอด สามารถแจ้งได้ที่บก.จร. โทร.1197 ได้ทันที



+++สำหรับค่าปรับข้อหาจอดรถกีดขวางการจราจร มีโทษปรับ 500 บาท และต้องเสียค่ารถยกสำหรับเคลื่อนย้าย พร้อมค่าดูแลรถในแต่ละประเภท ดังนี้ ประเภท 4 ล้อ ค่ายก 500 บาท ค่าดูแล 200 บาท / วัน ประเภท 6 ล้อ ค่ายก 700 บาท ค่าดูแล 300 บาท / วัน ประเภท 10 ล้อขึ้นไป ค่ายก 1,000 บาท ค่าดูแล 500 บาท / วัน



+++จากการลงพื้นที่ ผู้สื่อข่าวพบว่า หลังเริ่มมาตรการห้ามจอดบนผิวจราจร ทำให้วินจักรยานยนต์ที่แยกคลองเตย กลับขึ้นไปจอดบนทางเท้าซึ่งเป็นความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร(กทม.) กีดขวางผู้ที่เดินสัญจรไปมาแทน



+++ด้านพล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น.ดูแลงานด้านจราจร กล่าวว่า ในพฤหัสบดีที่12มิ.ย.นี้ จะมีการประชุมระหว่างบช.น. และกทม. โดยมีพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯกทม. เป็นตัวแทน ในการหาทางออกร่วมกัน 



 อภิสุข



 

ข่าวทั้งหมด

X