ป.ป.ช.แจกเอกสารชี้แจง กรณีการทำหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. การร้องขอถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกรณีกล่าวหา ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว 5 ประเด็น
การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวน คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วยความเร่งรีบใช้เวลา 21 วัน ก็มีการแจ้งข้อกล่าวหานั้น ข้อเท็จจริงคือคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมณ์ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว ซึ่งจากการไต่สวนข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้กำหนดให้มีนโยบายโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว ซึ่งทำให้ความเสียหายแก่การเงินการคลัง จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่านางสาวยิ่งลักษณ์ จะปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คณะอนุกรรมการไต่สวนจึงได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาและมีมติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะ เป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยนำไปรวมดำเนินการกับกรณีร้องขอให้ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว ดังนั้น ในการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้นับตั้งแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งให้ไต่สวนข้อเท็จจริงจนกระทั่งให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มารับทราบข้อกล่าวหา รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 1ปี 10 เดือน ดังนั้นในการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงไม่ได้ใช้เวลาไต่สวนเพียง 21 วัน
ปปช.ยืนยันด้วยว่า กรณี การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระบุว่าการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้ามาเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ทำให้กลายเป็นคู่กรณีกับผู้ถูกกล่าวหาเสียเอง แทนที่จะเป็นคนกลางที่จะอำนวยความยุติธรรมนั้น เป็นการทำตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 66 ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับรายงานจากการไต่สวนข้อเท็จจริงว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จึงต้องดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ห้ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยไม่ได้มีการยกเว้นในเรื่องหนึ่งเรื่องใดทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาทุกรายรวมถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ จึงได้รับการอำนวยความยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน
การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระบุว่าเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกกล่าวหาจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณานั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนทั้งคณะ เพื่อทำการไต่สวนข้อเท็จจริง และเป็นการคุ้มครองและให้เป็นธรรมแก่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีตามกฎหมาย
การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระบุว่าประสงค์จะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อขอตรวจสอบพยานหลักฐานในสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ว่ามีพยานหลักฐานใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ในการกล่าวหา หรือกรณีมีข้อสงสัยที่ยังไม่ชัดเจนเพื่อที่จะได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ถูกต้องนั้น การขอตรวจพยานหลักฐานในสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงนั้น ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องเข้าตรวจพยานหลักฐานด้วยตนเอง และตรวจได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา โดยต้องไม่กระทบต่อรูปคดีหรือการคุ้มครองบุคคลที่เกี่ยวข้อง สิทธิดังกล่าวได้มีการแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้ว ตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระบุว่าการขอเลื่อนคดีของผู้ถูกกล่าวจะมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ และการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ก่อนหน้านี้ ปปช. มติอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาออกไปอีก 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 มีนาคม 2557 หากนับจากวันรับทราบข้อกล่าวหาถึงวันที่อนุญาตให้ขยายรวมแล้วเป็นเวลา 32 วัน ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าระยะเวลาดังกล่าว รวมทั้งเอกสารหลักฐานที่อนุญาตให้คัดถ่ายไปครั้งแรกจำนวน 49 แผ่น ครอบคลุมข้อเท็จจริงที่จะใช้ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว จึงมีมติไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา