การก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 หรือสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ ตามโครงการทางพิเศษฯสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โดยวันนี้พลเอกวิวรรธน์ สุชาติ ประธานกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) และเจ้าหน้าที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการออกแบบสะพานดังกล่าวโดยการใช้อุโมงค์ลม ทดสอบเปรียบเทียบระหว่างสะพานพระราม 9 เดิม และสะพานคู่ขนานพระราม 9 ตัวใหม่ ว่ารับแรงลมต่างกันอย่างไร
พลเอกวิวรรธน์ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่วันนี้มาดูสะพานที่อยู่ในอุโมงค์ ว่าเมื่อเจอแรงลมและเปรียบเทียบกับสภาพอากาศของจริงแล้วจะสามารถรับแรงลได้หรือไม่ ซึ่งจริงๆแล้วประเทศไทยมีพายุ ที่มีความเร็วสูงสุด120กม./ชั่วโมง แต่อุโมงค์ลมที่ใช้ในการทดสอบนั้นจะทดสอบ400กม./ชั่วโมง จึงมั่นใจว่าการออกแบบนี้เมื่อมีการปะทะกับแรงลมแล้ว จะสามารถรับมือได้ ทั้งนี้การก่อสร้างสะพานขึงใหม่นี้ก็เพื่อแบ่งเบาการจราจรจากสะพานพระราม9เดิม อีกทั้งสะพานพระราม9เดิมมีอายุการใช้งานมานานแล้ว หากจะต้องปิดปรับปรุงนั้นไม่สามารถทำได้ แต่หากมีสะพานขึงใหม่เข้ามา จะสามารถปิดซ่อมแซ่มสะพานพระราม9เดิมได้ และจะเปิดให้บริการช่องทางจราจร4ช่องทางแต่หากเวลาเร่งด่วนอาจจะเพิ่มเป็น6-7ช่องทาง และหวังว่าเดือนตุลาคมจะสามารถเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ หากผ่านครม.ก็จะถึงขั้นตอนการเวนคืนพื้นที่ ซึ่งมีไม่มาก
ทั้งนี้พลเอกวิวรรธน์ กล่าวว่ารู้สึกดีใจที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้คิดค้นอุโมงค์ลมขึ้นมา หากอนาคตมีการออกแบบหรือก่อสร้างตึก มหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศมีการพัฒนาคิดค้นการทดลองแรงลมขึ้นมาอีก ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจในตัวอาคารได้ ซึ่งปัจจุบันวิศวกรของไทยมีความก้าวหน้าขึ้นมากแต่ก็ไม่ได้เชื่อมั่นวิศวกรไทยเต็มร้อยจะต้องมีการหารือกับวิศวกรต่างประเทศเข้ามาดูแลด้วย
ขณะที่ผู้แทนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า การทดลองอุโมงค์ลมทั้ง2สะพานมีอัตราส่วน1:90 เมื่อเทียบกับขนาดจริง ประกอบกับสะพานขึง เป็นสะพานช่วงยาวและมีความอ่อนตัวมาก ดังนั้นผลของแรงลมต่อสะพานจึงมีความสำคัญมาก ส่วนแรงลมที่ทดลองจะทดสอบในแนวราบและปรับเปลี่ยนองศาครั้งละ3องศาจาก-12ไปถึง+12 และจะถูกตั้งคู่ขนานกับสะพานพระราม9เดิม ในทิศทางต้นลมและท้ายลม เพื่อศึกษาอากาศแรงลมที่สม่ำเสมอและแรงลมที่ปั่นป่วน
ผู้สื่อข่าว:ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ