หลังจากชาวอุยกูร์ 10 ราย หลบหนีออกจากห้องกักขัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดหนองคาย เมื่อช่วงเวลาประมาณ 03.00 น. พล.ต.ท. ณัฐธร เพราะสุนทร ผู้บัญชาการสำนักงานรวจคนเข้าเมืองหรือตม. เปิดเผยว่า ล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง สามารถติดตาม จับกุมตัวผู้ที่ถูกกักขังชาวอุยกูร์ที่หลบหนีได้ครบทั้ง 10 รายแล้ว โดยสามารถจับกุมได้ที่บริเวณป่าช้า วัดหนองขาม จังหวัดหนองคาย หลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยขณะที่ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ได้สั่งย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู้เวรยามในช่วงเวลานั้น ไปยังกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 4
สำหรับ ผู้ที่ถูกกักขังทั้ง 10 ราย อาศัยช่วงเวลาที่ฝนตกหนัก รวมทั้งเมื่อคืนนี้เกิดเหตุไฟดับในพื้นที่จังหวัดหนองคายเป็นวงกว้าง ผู้ที่ถูกกักขังจึงใช้วิธีทำลายสิ่งกีดขวางบริเวณเพดานห้องกักขัง โดยใช้น้ำหนักตัวโหนเปิดโครงเหล็กบนฝ้าเพดาน แล้วหลบหนีขึ้นไปโดยใช้เสื้อผ้าผูกกับตัวเอง ซึ่งห้องกักตัวกับห้องขังในเรือนจำ ระดับความแน่นหนาของห้องแตกต่างกัน ความแข็งแรงของห้องกักตัวจึงไม่เท่ากับห้องขัง ส่วนการเฝ้าเวรยาม ได้มีการสับเปลี่ยนเวรยามกันตลอด 24 ชั่วโมง เวรละ 4 คน ตั้งแต่ยศนายตำรวจชั้นประทวนจนถึงรองสารวัตร โดยมาตรการดูแลความปลอดภัยเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจห้องขังสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อค้นหาอาวุธต่างๆ
สำหรับชาวอุยกูร์ที่หลบหนีเข้าเมืองมานั้น ในอดีตได้ถูกกักตัวอยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสวนพลู แต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้สั่งการให้ขับขยายไปในพื้นที่ต่างๆ เรื่องจากเกิดความแออัด และผู้ที่ถูกกักขังจะเกิดความเครียด มีการประท้วงด้วยการอดอาหาร บางรายติดอยู่ในห้องกักขัง ถึง 2 ปี จึงกระจายชาวอุยกูร์ไปยังพื้นที่ภาคอีสาน เนื่องจากลักษณะ รูปพรรณ ของชาวอุยกูร์ ไม่เหมือนกับคนในพื้นที่ หากหลบหนีจะสามารถติดตามตัวได้ง่าย ประกอบกับอาหารการกินต่างๆ ที่หาได้ยาก
สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้รับงบประมาณให้สร้างสถานที่กักขังอย่างมั่นคง ถาวร ตามมาตรฐานสากล ในพื้นที่คลอง 6 จังหวัดปทุมธานี ซึ่งจะสามารถควบคุมผู้ที่ถูกกักตัวได้ถึง 2,000 คน โดยจะแบ่งแยกออกเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนที่มีความเสี่ยงสูง คือ ผู้ที่ถูกกักขัง ที่ผ่านคดีอาญา รอการผลักดันกลับประเทศต้นทาง โซนเสี่ยงต่ำ หรือ ผู้ที่หลบหนีเข้าเมือง ที่ไม่เป็นภัยต่อความมั่นคง หรืออยู่เกินระยะเวลาที่กำหนด และโซนสุดท้ายคือ ผู้ที่หลบหนีมาเป็นครอบครัว จากข้อมูลสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พบว่า มีชาวอุยกูร์ที่ถูกกักขังกว่า 50 คน