นายกฯไทย โชว์วิสัยทัศน์ในเวทีสุดยอดผู้นำด้านผู้ลี้ภัย ในฐานะประเทศกลางทางให้ที่พักพิง ให้การศึกษา ฝึกอาชีพ

21 กันยายน 2559, 08:19น.


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในเวทีการประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านผู้ลี้ภัยซึ่งประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐเป็นผู้ริเริ่มขึ้นและได้เชิญพล.อ.ประยุทธ์เข้าร่วมประชุม ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและประชาชนคนไทยมีความเอื้ออารี และให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยจากประเทศเพื่อนบ้านมาแล้วกว่าล้านคน ปัจจุบัน ไทยให้ที่พักพิงแก่ผู้หนีภัยการสู้รบชายแดนตลอดมา จากเดิมห้าแสนคนจนเหลือหนึ่งแสนคนในปัจจุบัน ไม่นับรวมผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติและหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และแรงงานต่างด้าวอีกกว่าสามล้านคน ไทยจึงยินดีที่ประชาคมโลกได้ร่วมกันรับรองแถลงการณ์นิวยอร์กสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้โยกย้ายถิ่นฐานเมื่อวันที่ 19 กันยายน



สำหรับ รัฐบาลไทยออกมาตรการต่างๆ เพื่อเพื่อนมนุษย์เหล่านี้ โดยปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมาย จัดงบประมาณราว 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือร้อยละ 0.05 ของจีดีพีสำหรับค่ารักษาพยาบาล การศึกษา และให้ความช่วยเหลือหากเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา ไม่ต่างไปจากคนไทย นอกจากนี้ ไทยกำลังพิจารณาจัดทำระบบคัดกรองให้เป็นมาตรฐานสากล เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของ การตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ และอนุญาตให้เหยื่อค้ามนุษย์และพยานสามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมายจนกว่าคดีจะสิ้นสุด โดยอาจขยายระยะเวลาให้อยู่และทำงานต่อได้อีกไม่เกินสองปีเพื่อผลทางคดี



 รัฐบาลยังให้การศึกษาและฝึกอาชีพแก่คนในพื้นที่พักพิง เพื่อให้กินดีอยู่ดีเมื่อกลับประเทศ รวมทั้งออกสูติบัตรแก่เด็กผู้หนีภัยทุกคน และกำลังหารือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อส่งผู้หนีภัยกลุ่มนำร่องที่สมัครใจกลับบ้าน ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข อีกทั้งไทยกำลังพิจารณาพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย เพื่อไม่ส่งบุคคลกลับไปสู่อันตราย



นายกรัฐมนตรี ยังได้ ขอขอบคุณประธานาธิบดีโอบามาที่ตระหนักถึงบทบาทของไทยในการแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยอย่างเต็มที่ ภายใต้ทรัพยากรและข้อจำกัดของประเทศมาโดยตลอด และเชิญไทยเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้และเห็นว่านานาประเทศจะต้องร่วมกันรับผิดชอบแก้ไขปัญหาดังกล่าว และควรเปิดพื้นที่เชิงนโยบายให้กับประเทศต้นทาง กลางทาง และปลายทางในการแก้ไขปัญหาภายในบริบทของตนเอง   โดยเราต้องเห็นใจประเทศต้นทาง โดยเพิ่มความช่วยเหลือด้านการพัฒนา ซึ่งจะช่วยให้คนไม่ย้ายถิ่น และเราไม่ควรกดดันประเทศต้นทางมากเกินไป หากยังไม่พร้อมด้วยตนเอง ต้องช่วยกันสนับสนุนจากภายนอกทุกมิติ ขณะที่ประเทศกลางทาง ซึ่งถือเป็นประเทศแรกรับ ต้องรับภาระอย่างมาก จึงควรมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหา ได้รับความช่วยเหลือทางงบประมาณ นโยบาย และการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนการดำเนินคดีกับผู้แสวงหาประโยชน์ต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐานในทุกรูปแบบอย่างจริงจัง



ส่วนประเทศปลายทางก็ควรต้องเพิ่มความช่วยเหลือด้วย ไทยยินดีที่ประเทศปลายทางประกาศรับผู้ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานใหม่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ประเทศปลายทางควรสนับสนุนเงินทุน พัฒนาสภาพความเป็นอยู่ และขีดความสามารถ และร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(UNHCR) ในการเร่งรัดกระบวนการการคัดกรองและการส่งต่อให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อบรรเทาความทุกข์ยาก และสามารถย้ายไปยังประเทศที่ 3 ได้โดยเร็วตามที่คาดหวัง ซึ่งยังช่วยลดภาระของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกด้วย หากไม่สามารถส่งไปประเทศที่สามได้ ต้องแสวงหามาตรการเหมาะสมโดยเร็ว ไม่ให้เป็นภาระประเทศกลางทาง



CR: ทวีต กระทรวงการต่างประเทศ 

ข่าวทั้งหมด

X