การบริหารจัดการงานจราจร ภายใต้การนำงานวิจัยด้านจราจรมาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยหนึ่งในงานวิจัยที่น่าสนใจ คือ การจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ผลงานวิจัยของนางสาวสุพัตรา แผนวิชิต นักวิจัยโครงการจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัญหาปริมาณใบสั่งที่มีจำนวนมาก ขาดการติดตามเพื่อมาดำเนินคดีอย่างจริงจัง รวมทั้ง มีการฝ่าฝืนและละเมิดกฎหมายอยู่บ่อยครั้ง ตลอดจนการทำผิดซ้ำซากของผู้ใช้รถใช้ถนน จึงได้มีการจัดทำวิจัย โดยเสนอแนะให้ กำหนดวิธีพิจารณาคดีจราจรขึ้น เป็นพิเศษซึ่งต่างจากคดีอาญาทั่วไป โดยจัดตั้งเป็นแผนกคดีจราจร ในศาลแขวง ซึ่งรูปแบบของงานวิจัย คือ เจ้าหน้าที่จราจร ต้องนำใบสั่งที่ไม่มีการชำระค่าปรับตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดยื่นไปยังพนักงานอัยการเพื่อยื่นต่อศาล ภายใน 48 ชั่วโมงนับจากวันที่ครบกำหนดชำระค่าปรับ ให้ผู้ที่ได้รับใบสั่ง ไปแสดงตนและชำระค่าปรับที่ศาล ภายใน 7 วัน ซึ่งหากไม่มารายงานตัวต่อศาล ศาลจะมีอำนาจสั่งพักใบใช้อนุญาตขับขี่ เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ และออกหมายเรียก แต่หากมีการรับสารภาพศาลจะพิจารณาคดีและชำระค่าปรับไปตามกระบวนการ หรือหากผู้กระทำผิดปฏิเสธ ศาลจะนัดพิจารณาคดีและแจ้งพนักงานอัยการ ให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
โดยจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง และวิธีพิจารณาคดีในศาลแขวง พ.ศ.2499 ในงานวิจัยดังกล่าว มีความมุ่งหวังเพื่อให้ผู้ขับขี่บนท้องถนนที่กระทำความผิดและถูก เขียนใบสั่งแต่ไม่ไปชำระค่าปรับ มีความ เกรงกลัวต่อการกระทำผิดมากขึ้น และปฏิบัติตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างถูกต้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดวินัยจราจร ของผู้ใช้รถใช้ถนน
ปัจจุบันการกำหนดนโยบายเรื่องจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพฯนั้น ได้ดำเนินการโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้เสนอแนวทางไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลยุติธรรมมีมุมมองที่แตกต่าง เนื่องจาก การกระทำผิดกฎหมายจราจรเป็นความผิดเล็กน้อยการนำสู่ศาลจะมีผลกระทบต่อการพิจารณาคดีอื่นทำให้ล่าช้าและสิ้นเปลืองงบประมาณทั้งภาครัฐและเอกชน จึงจำเป็นต้องทำการศึกษาวิจัยเพื่อยืนยันหลักการ เหตุผลในการจัดตั้งศาลจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครขึ้น
#ศาลจราจร