การบริหารจัดการเชิงเทคโนโลยีในการจัดการจราจร ศ.พ.ต.อ.หญิง ดร. พัชรา สินลอยมา นักวิจัยในหัวข้อ การพัฒนาระบบการบริหารจัดการ กำลังพลของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร เปิดเผยว่า ปัจจุบันกำลังพลในด้านจราจรมีเพียง 2,960 นาย และมีอายุ 50 ปีขึ้นไปกว่า 1,100 นาย ดังนั้นจึงต้องหาวิธีแก้ไขปัญหากำลังพลน้อย แต่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ ประกอบด้วย การบริหารจัดการกำลังพลของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร จัดอบรมในโรงเรียนแก่ผู้เกี่ยวข้องในเรื่องการรับส่ง นักเรียนให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งทำสนธิสัญญา (MOU) ร่วมกับห้างสรรพสินค้าในการจัดระเบียบ คู่ค้าแผงลอย เปลี่ยนจุดจอดรถตู้รับส่ง รวมทั้งการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยใช้รีโมทอัจฉริยะ ควบคุมการจราจร ควบคุมสัญญาณไฟและเปิดช่องทางพิเศษ ปิดจุดกลับรถ เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด โดยต้องพัฒนาเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ให้มีทักษะ ในการจัดการและเชี่ยวชาญเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อมาช่วยในด้านการทำงาน
โดยสอดคล้องกับงานวิจัย ของ รองศ. ดร. สมชาย ปฐมศิริ เรื่องการใช้งานเทคโนโลยีสำหรับการจัดการจราจร ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานจราจร รวมทั้งพัฒนา เพิ่มเติม เพื่อให้การจราจรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากการเก็บรวบรวมข้อมูล พบว่าหน่วยงานด้านจราจรในประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีมาใช้ ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ การอำนวยการจราจร และการบังคับใช้กฎหมายจราจร ซึ่งเทคโนโลยีที่มีการนำมาใช้บ่อยคือ สัญญาณไฟจราจร ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร กล้องโทรทัศน์วงจรปิด ส่วนเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ ระบบตรวจจับรถยนต์ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ระบบตรวจจับรถยนต์ฝ่าฝืนเปลี่ยนช่องจราจร ระบบตรวจจับความเร็ว เครื่องมือวัดระดับแอลกอฮอล์เครื่องมือตรวจวัดควันดำ หุ่นจราจร การออกใบสั่งอัตโนมัติ และเทคโนโลยีการชำระค่าปรับ แต่ในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ยังคง พบอุปสรรค เช่น การขาดแคลนงบประมาณ การขาดแคลนกำลังพล และปัญหากฎหมายที่ไม่สามารถบังคับให้ผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรมาชำระค่าปรับได้ทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานไม่เต็มที่ จึงควรได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาพัฒนางานด้านจราจรรวมทางเทคโนโลยี ให้มีความทันสมัย ซึ่งจะช่วยชดเชยกำลังพลที่ขาดแคลนและลดภาระงานที่หนักเกินไปของเจ้าหน้าที่ได้