กทม.ย้ำ การอนุรักษ์ป้อมมหากาฬ หลังการรื้อถอนชุมชน

23 กันยายน 2559, 16:32น.


แนวทางหลังการเข้ารื้อถอนบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬ  นายวัลลภ  สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในปี 2492 กรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนป้อมมหากาฬ และกำแพงเมืองเป็นโบราณสถาน และในปี 2535 ได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบวรนิเวศ เขตพระนครกรุงเทพฯ พ. ศ. 2535 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถาน ซึ่งทาง กทม. ยังยืนยันจะทำตามวัตถุประสงค์เดิมตามพระราชกฤษฎีกาที่ได้กำหนดไว้



ด้านนายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานขั้นต่อไป หลังกรุงเทพมหานคร วางเป้าหมายรื้อถอนบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬเสร็จในช่วงสิ้นปีนี้ จะดำเนินโครงการตามวัตถุประสงค์ ที่วางไว้คือ อนุรักษ์ป้อมมหากาฬ กำแพงป้อม และปรับปรุงพื้นที่เป็นส่วนสาธารณะ เพื่อให้เกิดกิจกรรมต่อสังคม การเรียนรู้ส่งเสริมศิลปะวัฒธรรม สร้างความผูกพันธ์ของคนทั่วไป ทั้งนี้จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแผนการปรับปรุงอีกครั้ง



นายโสภณ พรโชคชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย มองว่า หากป้อมมหากาฬ ไม่ทำเป็นสวนสาธารณะ แต่มีคนครอบครองไปใช้ส่วนตัว จะสูญเสียปีละ 19,000,000 บาท ในระยะเวลา 10 ปี เป็นเงิน144,000,000 บาท ซึ่งก็ได้ยกตัวอย่าง สวนสาธารณะสันติชัยปราการ ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนา เป็นลานเอนกประสงค์ ที่ใช้พักผ่อนหย่อนใจ ศึกษา และอนุรักษ์  นอกจากนี้ยังได้มีการอ้างถึงสถานที่สำคัญในอดีต ที่ยังถูกยกเลิกไปเพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงใหม่ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว



ข่าวทั้งหมด

X