กรมชลฯขอระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น/ตั้งกก.สอบเรียกค่าชดเชยจำนำข้าวที่เหลือ80%/วันท่องเที่ยวโลก

27 กันยายน 2559, 07:53น.


+++สภาพอากาศ นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝนยังไม่หมดไป ยังคงเป็นฝนตกตามฤดู ที่ได้รับอิทธิพลของมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ยังส่งผลให้ในช่วงนี้ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนหนักในหลายพื้นที่ ไปถึงในช่วงกลางเดือนตุลาคม จากนั้นมรสุมจะเคลื่อนที่ไปพาดผ่านยังภาคใต้ ส่งผลให้ภาคใต้ในช่วงครึ่งเดือนหลังของเดือนตุลาคม จะมีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ก่อนจะเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน



+++การพร่องน้ำ นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน ประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผู้แทนกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานลักษณะอากาศว่า ในระยะนี้ร่องมรสุมจะเคลื่อนตัวขึ้นไปทางภาคเหนือ แต่ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม จะขยับลงมาที่ภาคกลาง ทำให้เกิดฝนตกชุกในจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี  กรมชลประทาน จึงเห็นควรให้ระยะที่ยังปลอดฝน เร่งระบายน้ำออกทะเล จากที่ระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 1,790 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีจะเพิ่มเป็น 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งไม่ถือว่า เป็นสถานการณ์วิกฤติเพราะปกติช่วงนี้ของปีระบายตั้งแต่ 2,000-2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่เนื่องจาก 2-3 ปี ปริมาณฝนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย จึงระบายน้อยกว่าค่าปกติ



+++นายสุเทพ กล่าวว่า จะขอความเห็นเรื่องการเพื่มการระบายน้ำ ขอความเห็นไปที่พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรายงานต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พิจารณาขอระบายน้ำเพิ่มขึ้นที่เขื่อนเจ้าพระยา อาจจะกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำและท้ายเขื่อน  เช่น อ.ไชโย อ.เมือง จ.อ่างทอง อ.พรหม อ.เมือง อ.อินทร์บุรี จ. สิงห์บุรี และเพิ่มการระบายท้ายเขื่อนพระราม 6 กระทบน้ำท่วมพื้นที่ อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้มีแผนการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสัก เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งขณะนี้ยังระบาย 20 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน โดยทยอยปล่อยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง วางเป้าที่ 40 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน กรมชลประทาน ต้องเร่งระบายน้ำออกทะเล เพื่อไม่ให้เกิดน้ำสะสม ซึ่งจะกระทบต่อกรุงเทพฯ ได้ในภายหลัง  



+++กรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ากรมชลประทานไม่เอาน้ำที่ไหลหลากในแม่น้ำเจ้าพระยาไปเก็บไว้ในทุ่ง หรือแก้มลิงธรรมชาติในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบันถือว่าเป็นปีน้ำปกติ มีผลกระทบเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำนอกคันกั้นน้ำ ซึ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ได้ปรับตัวดำเนินวิถีชีวิตแบบคนริมน้ำมานานแล้ว ส่วนกรณีของแก้มลิงหรือทุ่งรับน้ำ ปัจจุบันยังมีเกษตรกรบางส่วนที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว ได้ร้องขอให้กรมชลประทานไม่ให้เอาน้ำเข้าพื้นที่แก้มลิง โดยขอให้รอจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จก่อนสิ้นเดือนกันยายน จึงยินยอมให้เอาน้ำเข้าไปเก็บไว้ได้



+++ ด้าน นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กำชับให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ตามแผนรับมือ ทั้งนี้พื้นที่ที่ได้รับผลประทบส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่นอกนิคม



+++เรื่องการเคาะตัวเลขชดเชยความเสียหายโครงการจำนำข้าวคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี าหารือ พล.อ. ประยุทธ์ เกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รวมถึงเรื่องที่จะเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันนี้  นายวิษณุ ชี้แจงกรณีที่ คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง สรุปค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว 1.78 แสนล้านบาทและให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องชดใช้ค่าเสียหายร้อยละ 20 หรือ 3.57 หมื่นล้านบาทว่า ขั้นตอนหลังจากนี้เป็นเช่นเดียวกับกรณีขายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ต้องส่งเรื่องให้รมว.คลังและนายกรัฐมนตรีรับทราบ สำหรับการพิจารณา จำนวนเงินค่าเสียหาย อีกร้อยละ 80 หรือประมาณ 1.42 แสนล้านบาท หน่วยงานเกี่ยวข้องต้องไปหาบุคคลมารับผิดร่วม โดย กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังมีหลักเกณฑ์พิจารณา กรณีกระทำผิดหลายคนต้องแบ่งสัดส่วนการรับผิด สำหรับกรณีละเลย ต้องรับผิดร้อยละ 10-20



+++ขณะที่ นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งเรียกค่าเสียหายจำนำข้าว กล่าวถึงการเรียกค่าเสียหายที่เหลือร้อยละ 80 ว่า หลังจากนี้ หน่วยงานเกี่ยวข้องต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน เป็นกรณีย่อยเช่น การสวมสิทธิ, การนำข้าวผิดประเภทมาจำนำ , การเวียนเทียนข้าว และกรณีข้าวหาย ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ก่อนเสนอเรื่องมาให้คณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อหาผู้รับผิดทางแพ่งและชดใช้เงินคืนต่อไป กรณีการเอาข้าวมาจำนำ เช่น กรณีข้าวหายต้องมีคนรับผิดชอบในฐานะผู้ควบคุมดูแล เช่นเจ้าของโรงสี ยุ้งฉาง แม้ว่าจะเป็นเอกชน แต่ต้องมีการดำเนินคดีกับคนที่ทำให้ราชการเสียหาย สำหรับในส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง อื่น ๆ รวมถึงรัฐมนตรีที่มีส่วนในการทำให้เกิดความเสียหายจะมีการสั่งให้ชดใช้เงินคืนด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกระบวนการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบของแต่ละหน่วยงานต่อไป



+++นายนพดล หลาวทอง ทนายความของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอความเป็นธรรม ยืนยันเป็นเรื่องนโยบายไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการค้าหรือหากำไร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ย้ำว่า การออกคำสั่งพิเศษดังกล่าวทำให้กระบวนการถูกลัดขั้นตอนและเกิดความบิดเบี้ยว



+++วันนี้  นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย จะยื่นเรื่องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบทรัพย์สินของนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ หลังจากพบว่า นางอภิรดี ได้รับทรัพย์สินที่เป็นเครื่องประดับเพชร ทองรวมมูลค่าหลายแสนบาท โดยระบุเป็นของขวัญจากพี่ และ นางอภิรดี ได้แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราปบรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.)  มีรายได้ต่อปีหลายล้านบาทแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีฐานะต้องเสียภาษี แต่ในบัญชี ป.ป.ช. กลับไม่มีการแจ้งรายได้ จากการรับทรัพย์สิน จึงสงสัย รมว.พาณิชย์ เสียภาษีครบถ้วนหรือไม่ และได้นำของขวัญจากพี่ไปรวมคำนวณเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรหรือไม่



+++กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลองวันท่องเที่ยวโลก 2016  ภายใต้ธีมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล... เข้าถึงอย่างเท่าเทียม ช่วงเย็น นายกฯ เปิดงานวันท่องเที่ยวโลก และกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อเรื่อง การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลของประเทศไทยในบริบทของเวทีโลก  



+++นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า ทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะท่องเที่ยวและเข้าถึงการบริการอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริง ยังมีคนมากกว่าพันล้านคนทั่วโลกยังประสบอุปสรรคอยู่ เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้เยาว์ ไม่สามารถจะท่องเที่ยวได้ เพราะขาดการบริการพื้นฐาน ไม่มีข้อมูลที่ขัดเจนและเชื่อถือได้ ไม่สามารถเดินทางโดยสะดวกได้เพราะขาดการบริการโดยสารสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและสภาพแวดล้อมในสถานีที่ต่างๆ ก็ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทาง



+++นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยอมรับว่า เรื่องนักท่องเที่ยวจีน อาจจะกระทบต่อรายได้เข้าประเทศบ้าง แต่จะเป็นช่วงระยะสั้นเท่านั้น แม้สัดส่วนรายได้จากภาคการท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 16.6 ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) แต่มั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของจีดีพีในภาพรวมปีนี้ที่ ธปท.ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 3.2 เพราะตลาดจากยุโรปเติบโตทุกประเทศ จะช่วยทดแทนกับรายได้ตลาดจีนที่หายไป



+++ตั้งแต่ช่วงวันที่ 1-25 กันยายน นักท่องเที่ยวจีน ลดลงไปร้อยละ9 เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯและพัทยา แต่มั่นใจว่าช่วงวันชาติจีนช่วงต้นเดือนตุลาคมไปจนถึงปลายปี ยังเติบโตได้ดี โดยในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ผู้ว่า ททท.กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะไปร่วมประชุมกับสำนักงานการท่องเที่ยวของจีน เพื่อหารือถึงแนวทางป้องกันและปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ และพาบริษัทนำเที่ยวของไทยประมาณ 40 ราย ไปเจรจาซื้อขายแพคเกจทัวร์คุณภาพกับคู่ค้าประมาณ 100 ราย ที่กรุงปักกิ่ง รายได้ท่องเที่ยวปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมาย 2.58 ล้านล้านบาท



แฟ้มภาพ



 

ข่าวทั้งหมด

X