ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย,มูลนิธิตาสว่าง (Insight Foundation),มูลนิธิฟรีดริช เนามัน จัดเสวนาวิชาการเรื่อง"ยกเครื่องประเทศไทย โจทย์ใหญ่ปฎิรูปประเทศ"ที่อาคารศศนิเวศสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง,นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบัน ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
+++ศ.ดร.ธีรภัทร์ กล่าวว่าแม้ไทยผ่านการปฏิรูปการปกครองมา82ปีแต่สภาพปัญหาของประเทศไม่ได้ถูกแก้ไขทั้งจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและที่มาจากการยึดอำนาจการปกครอง ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.)ในฐานะองค์รัฏฐาธิปัตย์หากไม่เร่งปฏิรูปประเทศการยึดอำนาจการปกครองก็ไร้ประโยชน์ ซึ่ง คสช.ต้องรู้จักใช้อำนาจที่ตัวเองมีอยู่ทั้งด้านบริหารและนิติบัญญัติ พร้อมทั้งต้องย้อนกลับไปดูปัญหาของประเทศ เช่นปัญหาการทุจริตคอรัปชัน จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย เร่งออกมาตรการปราบปรามต่างๆ การวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยและปฏิรูประบบการศึกษา เพื่อทำให้พลเมืองมีระเบียบ วินัยมากขึ้น แต่การสร้างพลเมืองไม่ใช่เพียงแค่บรรจุหลักสูตรหน้าที่พลเมืองดีเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่จะต้องทำให้คนรุ่นหลังเห็นเป็นแบบอย่าง ขณะที่การปฏิรูปการเมืองนั้น เห็นว่า คสช.ควรตั้งสภาพลเมืองที่มีตัวแทนพลเมืองจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และคสช.ไม่จำเป็นต้องทำทุกเรื่อง แต่ต้องทำถูกเรื่องและต้องกล้าตัดสินใจแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ ศ.ดร.ธีรภัทร์ ยังกล่าวถึงกรณีที่สหภาพยุโรป หรือ อียู มีมติทบทวนความสัมพันธ์กับไทยและเรียกร้องให้ไทยจัดการเลือกตั้งรวมถึงกรณีที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยตั้งองค์กรเสรีไทยว่า คสช.ควรให้บุคคลที่มีผู้มีความเชี่ยวชาญมีประสบการณ์ด้านการต่างประเทศ เช่น ดร.วีรชัย พลาศรัยเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์,ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เข้ามาทำงานในเชิกรุก ชี้แจงและโต้แย้งข้อกล่าวหาให้มากขึ้น
+++ด้าน นพ.พลเดช ระบุว่าจากการเข้าไปร่วมประชุมกับ คสช.ในช่วงที่ผ่านมาได้เห็นความตั้งใจดีที่จะปฏิรูปในหลายด้าน ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ระบบยุติธรรม การศึกษา พลังงานและสื่อสารมวลชน โดยมีอาจารย์มหาวิทยาลัย นายทหาร เข้ามาร่วมกำหนดกรอบประเด็น ซึ่งคาดว่าหลังจาก คสช.สรุปประเด็นต่างๆในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคแล้วก็จะส่งให้สภาปฏิรูป สภานิติบัญญัตินำไปดำเนินการและในขั้นตอนนี้เองที่ประชาชนจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ซึ่งตนเห็นว่าการปฏิรูปกฎหมาย จะต้องทำให้กฎหมายถูกบังคับใช้อย่างจริงจังไม่ใช่เพียงแค่แก้ไขกฎหมายเท่านั้น
+++ขณะที่ ศ.ดร.จรัส อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าการปฏิรูปควรทำก่อนที่จะมีสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ระบบสภาฯก็จะมีปัญหาเรื่องขั้นตอนการพิจารณาที่ต้องใช้ระยะเวลา พร้อมทั้งเสนอให้กระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นเพื่อจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง เนื่องจากการบริหารในรูปแบบ'รัฐรวมศูนย์'ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตคอรัปชันที่นักการเมืองจะเข้ามาแสวงหาประโยชน์ด้วยการทุจริตเชิงนโยบาย อย่างไรก็ตามยังเสนอแนะให้ คสช.ปฏิรูปโครงสร้างตำรวจเพื่อป้องกันการถูกแทรกแซง ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเช่นในช่วงที่ผ่านมา และเชื่อว่าเมื่อมีการเปิดเวทีปฏิรูปก็จะช่วยสลายสีเสื้อได้ เนื่องจากทุกกลุ่มได้สะท้อนปัญหาซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่ได้เผชิญร่วมกัน
วินัยธร