ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า จำนวนประชากรยากจนที่สุดซึ่งมีค่าครองชีพต่ำกว่า 1.90 เหรียญสหรัฐ/วัน (ราว 66 บาท) ในเอเชียตะวันออกลดลงจากร้อยละ 60 ในปี 1990 อยู่ที่ ร้อยละ 3.5 ในปี 2013 เป็นหนึ่งในปัจจัยช่วยให้จำนวนประชากรยากจนทั่วโลกลดลง 114 ล้านคนทั่วโลก มาอยู่ที่ 767 ล้านคนในปี 2013 จาก 881 ล้านคนในปีก่อนหน้า
จากการสำรวจประเทศทั้งหมด 83 แห่ง พบว่า กลุ่มประชากรยากจนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่าภูมิภาคอื่นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับละตินอเมริกาและแคริบเบียนที่ ร้อยละ4.1 และเอเชียใต้ที่ ร้อยละ 3.7สำหรับในไทยนั้น กลุ่มคนยากจนในไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.89 มากกว่าค่าเฉลี่ยประชากรทั้งหมดที่ ร้อยละ 3.47 ในช่วงปี 2008-2013 ซึ่งเวิลด์แบงก์ระบุว่า สิทธิการประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเป็นหนึ่งในตัวอย่างความก้าวหน้าด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมประชากรร้อยละ 75 ของประเทศ
จิมยองคิม ประธานเวิลด์แบงก์ เปิดเผยว่า จำนวนประชาชนยากจนที่ปรับตัวลดลงนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศต่างๆ สามารถลดอัตราความยากจน และกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึงมากขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีผลงานไม่ค่อยดีนัก โดยรายงานดังกล่าวบ่งชี้ว่า ทั่วโลกใกล้บรรลุเป้าหมายของเวิลด์แบงก์ในการยุติความยากจนขั้นรุนแรงทั่วโลกภายปี 2030
ส่วนความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ปรับตัวลดลงในกว่า 40 ประเทศ โดยเฉพาะในบราซิล เปรู มาลี และกัมพูชา โดยความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศต่างๆ ปรับตัวลดลงมานับตั้งแต่ปี 2008 ขณะที่ความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ของประชากรในประเทศลดลงมาตั้งแต่ปี 1990 โดยในจีนและอินเดีย ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ 34 ประเทศจาก 83 ประเทศกลับมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากรายได้ของประชากรร่ำรวยปรับตัวขึ้นมากกว่ากลุ่มคนจน โดยการขยายตัวของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เช่น ในจีนและบราซิล คาดว่าส่งผลให้อัตราความเหลื่อมล้ำปรับตัวเพิ่มขึ้น