ผลการศึกษาการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) พบว่า ประเทศไทย ติด 1 ใน 10 ประเทศที่ใช้น้ำมากที่สุดในโลก รองจากอินเดีย จีน สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน และญี่ปุ่น โดยส่วนใหญ่นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร เพื่อการส่งออกเฉลี่ย 2,131 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี และยังไม่มีการจัดการทรัพยากรน้ำที่ดี โดยเฉพาะการพัฒนาเครื่องมือวัดร่องรอยการใช้น้ำ (วอเตอร์ ฟตุปริ้นท์) ตามแบบสากล ซึ่งต่อไปทั่วโลกจะนำมาใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้า ด้านสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากมองว่า ไม่แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับการพัฒนาเครื่องมือวอเตอร์ฟุตปริ้นท์ เพื่อเป็นดัชนีวัดปริมาณการใช้น้ำของสินค้าและบริการทั้งทางตรงและทางอ้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน แบ่งน้ำออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ บลู วอเตอร์ คือ ปริมาณการใช้น้ำจากแหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดินในกระบวนการผลิต กรีน วอเตอร์ คือ ปริมาณการใช้น้ำของพืชหรือแฝงมากับวัตถุดิบ และเกรย์ วอเตอร์ คือ ปริมาณน้ำจากการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ หรือบำบัดมลพิษที่เกิดจากการใช้น้ำ ซึ่งไทยต้องเร่งศึกษาวิธีการและแนวทางการจัดการน้ำ เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากร จากปัญหาทั่วโลกมีแนวโน้มการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชาชนอย่างรวดเร็ว และยังไม่มีการบริหารจัดการนำที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เร็วๆ นี้ จะเกิดมาตรการกีดกันทางการค้า จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดความยั่งยืนกับภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทย
ตามโครงการจะเน้นให้ผู้ประกอบการสามารถใช้แนวทางวอเตอร์ฟุตปริ้นท์ ไปประยุกต์ใช้ประเมินปริมาณการใช้น้ำ และจัดทำแนวทางการใช้น้ำในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะสามารถระบุวอเตอร์ฟุตปริ้นท์ บนฉลากผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารไปยังผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าสินค้าของบริษัทมีการใช้น้ำมากน้อยเพียงไร เป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิต ยังเป็นกรองรับมาตรการกีดกันทางการค้าในอนาคตได้