ป.ป.ส. ร่วมกับชาวอ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เดินหน้าโครงการรวมพลังประชารัฐอมก๋อยร่วมใจต้านภัยฝิ่นปี2560

27 กุมภาพันธ์ 2560, 17:15น.


สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด( ป.ป.ส.) นำโดย นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) พร้อมด้วย พลตรี ภาณุวัฒน์ เหนียวแน่น เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3  พลตำรวจตรี ภาณุเดช บุญเรือง รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 นายวิชัย ไชยมงคล ผอ.ปปส.ภาค 5 และเจ้าหน้าที่ ร่วมกับ นายศิวะ ธมิกานนท์ นายอำเภออมก๋อยและมวลชนตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จำนวน 350 คน จัดกิจกรรมรวมพลังประชารัฐอมก๋อยร่วมใจต้านภัยฝิ่นและยาเสพติด บริเวณพื้นที่ยึดคืนแปลงฝิ่น บ้านซอแอะ หมู่ที่ 12 ตำบลแม่ตื่น อำเภอก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขยายผลแนวทางประชารัฐของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาฝิ่น โดยนำมวลชนตำบลแม่ตื่นร่วมกับหน่วยราชการในพื้นที่เข้าดำเนินการตัดทำลายพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างมีส่วนร่วมและการปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ที่เคยมีการปลูกฝิ่น มีกิจกรรมที่สำคัญ ประกอบด้วย การร่วมกันตัดทำลายและยึดคืนพื้นที่ปลูกฝิ่นจำนวน 1 ไร่ และดำเนินการปลูกป่าต้นพญาเสือโคร่งทดแทนเพื่อเป็นสัญลักษณ์การทวงคืนผืนป่าจำนวน 200 ต้น





นายศิรินทร์ยา กล่าวว่า โครงการรวมพลังประชารัฐอมก๋อยร่วมใจต้านภัยฝิ่น ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของการใช้กลไกประชารัฐในการควบคุมปัญหายาเสพติดในพื้นที่ โดยเฉพาะในส่วนของความร่วมมือการแก้ไขปัญหาฝิ่นซึ่งอยู่บนพื้นที่สูงและห่างไกล ที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถเข้าถึงได้และจำเป็นต้องอาศัยกลไกภาคประชาชนในการเฝ้าระวังพื้นที่ปลูกฝิ่น ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ในแก้ไขปัญหาฝิ่นอย่างบูรณาการและยั่งยืนของสำนักงาน ป.ป.ส. ภายใต้ความร่วมมือกับมวลชน ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อยทั้ง 16 หมู่บ้าน/โครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืนศูนย์ปฏิบัติการขุนตื่นน้อย/ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ (ศมพ.อ.อ.อมก๋อย) และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตื่น ภายใต้นโยบาย ประชารัฐร่วมใจ หมู่บ้าน ชุมชนปลอดภัยยาเสพติด ของรัฐบาล ในการสร้างจิตสำนึกการไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับฝิ่น และการคืนผืนป่าต้นน้ำให้อำเภออมก๋อย





ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าว เนื่องจาก ในพื้นที่อำเภออมก๋อย ยังคงปรากฏ สถานการณ์ที่ยังมีพื้นที่ปลูกฝิ่นอยู่ถึงแม้จะมีแนวโน้มสถานการณ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2560 จากการสำรวจของสถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. พบจำนวน 1,168 แปลง 861 ไร่ ลดลงกว่าเดิมร้อยละ 20 ในขณะที่ตำบลแม่ตื่นพบพื้นที่ปลูกฝิ่นจำนวน 120 ไร่หรือ 135 แปลงคิดเป็นเพียง ร้อยละ 13 ของพื้นที่ฝิ่นในอำเภออมก๋อย ถึงแม้ว่าแนวโน้มสถานการณ์ลดลงมากและมีมาตรการการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องจากมวลชนตำบลแม่ตื่น และมีมาตรการนำผู้เสพผู้ติดฝิ่นออกมาบำบัดโดยสมัครใจร่วมกับโรงพยาบาลธัญญารักษ์ เชียงใหม่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ปี 2559 มากถึง 260 ราย ซึ่งส่วนมากเป็นผู้สูงอายุและคนวัยกลางคนอายุ 40 ปีขึ้นไป สาเหตุหลักการใช้ฝิ่นมาจาก ความยากจน การไม่มีความรู้ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรอย่างอื่นๆ และเป็นการใช้ฝิ่นทดแทนยาสามัญประจำบ้านเนื่องจากเส้นทางคมนาคมลงมาโรงพยาบาลไม่สะดวกและความไม่เพียงพอในการบริการสาธารณสุข





สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ได้ดำเนินการทุกมาตรการอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความต้องการการใช้ฝิ่นและลดการปลูกฝิ่นในพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วยมาตรการการใช้แนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียงตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาตรการด้านการปราบปราม มาตรการด้านการบำบัดรักษา ติดตามฟื้นฟู ช่วยเหลือส่งเสริมอาชีพผู้เสพผู้ติดฝิ่น มาตรการป้องกันในกลุ่มเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ของอำเภออมก๋อย ตลอดจนการทวงคืนฟื้นผืนป่าต้นน้ำจากแปลงฝิ่น การส่งเสริมให้มีการปลูกป่าทดแทนตามแนวทางสร้างป่าสร้างรายได้สำหรับผลการดำเนินงานที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาฝิ่นในพื้นที่อำเภออมก๋อยที่ผ่านมามีดังนี้



1. เข้าดำเนินการปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าและปลูกฝิ่นทั้ง 6 ตำบลได้ผู้ต้องหารวม 150 ราย ของกลางฝิ่นดิบ 7 กิโลกรัม เมล็ดพันธุ์ฝิ่น 4 กิโลกรัม



2. การจัดทำประชาคมและปฏิบัติจิตวิทยาในพื้นที่การแพร่ระบาดของฝิ่นรุนแรง จำนวน 63 หมู่บ้านเป้าหมาย



3. การช่วยเหลือด้านอาชีพผู้ผ่านการบำบัดจำนวน 140 คนจากโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน



4. ในปีงบประมาณ 2560 นำผู้เสพ ผู้ติดฝิ่นเข้าสู่การบำบัดรักษาไปแล้วจำนวน 33 ราย



5. การพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกร/เยาวชนรุ่นใหม่ในพื้นที่ 6 ตำบลเพื่อเป็นแกนนำเยาวชนชนเผ่ารุ่นใหม่ในการแก้ไขปัญหาฝิ่นจำนวน 230 รายโดยร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย



นอกจากนี้ เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมคณะได้มอบถุงยังชีพให้ผู้ผ่านการบำบัดรักษายาเสพติดในพื้นที่ตำบลแม่ตื่น จำนวน 50 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ผ่านการบำบัดในรูปแบบการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm  Reduction) โดยการให้ยาเมทาโดนทดแทน และได้มอบของช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนให้กับกลุ่มเยาวชนและผู้นำในพื้นที่ตำบลแม่ตื่นที่เป็นแกนนำในการเฝ้าระวังปัญหาการปลูกฝิ่นในพื้นที่อีกจำนวน 150 ชุด





 



CR:ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ป.ป.ส.



 



 

ข่าวทั้งหมด

X