สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ที่นครเจนีวา นำเสนอรายงานระบุว่า การที่ประเทศไทยแขวนกฎหมายที่จะเอาผิดทางอาญาผู้กระทำความผิดฐานทรมานและสูญหาย หลังจากที่มีความพยายามในการร่างและผลักดันกฎหมายฉบับนี้มานานหลายปี ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รอดพ้นจากการถูกลงโทษในคดีอาญาร้ายแรง และสำนักงานรู้สึกผิดหวังเนื่องจากเป็นกฎหมายที่รัฐบาลไทยให้คำมั่นไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมเมื่อปีที่แล้วว่าจะให้การสนับสนุน แต่เมื่อมาถึงขั้นตอนการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กฎหมายฉบับนี้ก็ถูกชะลอไว้
ทั้งนี้ นางราวินา ชามดาซานี โฆษกสำนักงานฯ กล่าวว่ากฎหมายไทยยังมีช่องว่างสำคัญ คือการไม่มีการดำเนินคดีอาญาเจ้าหน้าที่รัฐที่ทรมานผู้ต้องสงสัย แม้ในอดีตผู้เสียหายยังสามารถเรียกร้องค่าชดเชยได้ แต่การแขวนกฎหมายนี้ในระหว่างการพิจารณาของสภา จะส่งผลให้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงสามารถลักพา สังหาร คุมขัง หรือส่งไปยังประเทศที่ 3 โดยที่ผู้ลงมือจะไม่ถูกดำเนินคดี ทั้งที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งต่อผู้สูญหาย ตลอดจนครอบครัว
ในรายงานของสหประชาชาติ อ้างว่า มีผู้สูญหาย 82 คนนับตั้งแต่ 2523 รวมถึงทนายสมชาย นีละไพจิตร และนายพอละจี รักจงเจริญ นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยง สำนักงานฯ ระบุด้วยว่า หากไทยผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็จะถือเป็นความก้าวหน้าด้านการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งในระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคมนี้ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จะทบทวนการปฏิบัติตามพันธกรณีของไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ทางสำนักงานจึงขอเรียกร้องให้มีการพิจารณาในสภาพโดยเร็ว
..
F163