ชาวสกลนคร พัฒนาการย้อมผ้าคราม สะท้อนวิถีชีวิตและต้นแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น

01 มีนาคม 2560, 13:50น.


 การลงพื้นที่จ.สกลนคร ติดตามความหลากหลายทางชีวภาพ ในช่วงบ่ายมีการเสวนา "สกลนครกับความหลากหลายทางชีวภาพของข้าว เม่า คราม สู่การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ เปิดเผยว่า การจัดเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับของดีในจังหวัดสกลนครมาจากแนวคิด3เมืองธรรม คือ เมืองแห่งธรรมะ เมืองแห่งธรรมชาติและเมืองแห่งวัฒนธรรม ที่สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ รวมถึงเผยแพร่ให้นักท่องเที่ยวรับรู้ถึงของดีของแต่ละชุมชนว่าเป็นอย่างไร ตลอดจนการเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ ทั้งนี้อยากให้จังหวัดสกลนครเป็นจังหวัดต้นแบบของการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ชุมชนทั่วประเทศ  สำหรับเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น กลุ่มวิสาหกิจทอผ้าคราม กลุ่มผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับหมากเม่า ที่นับว่ามีความโดดเด่นและมีบทบาทสำคัญในการสร้างงานและรายได้ให้กับชุมชนต่างๆในจังหวัด โดยนักท่องเที่ยวจะได้เยี่ยมชมและเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิต  ตั้งแต่การปลูกครามการมัดย้อมการสร้างลวดลายและการทอ



ด้านนางสาวสกุณา สาระนันท์ กรรมการผู้จัดการบริษัทภูมิภาคย์อุตสาหกรรม(จำกัด) กล่าวถึง ความสำคัญของต้นครามกับชาวสกลนครว่า การทำผ้าย้อมครามของชาวสกลนคร จะแบ่งเป็น 3 โซน แต่ละพื้นที่จะมีเอกลักษณ์ของตัวเองคือ โซนพื้นที่แถบภูเขาจะมีกลิ่นไอของการย้อมคราม สะท้อนพื้นที่ของตัวเอง และได้รับการยอมรับจากประเทศญี่ปุ่น  โซนลุ่มน้ำ จะมีการมัดหมี่ที่พริ้วไหวเหมือนสายน้ำ และโซนในพื้นที่ชลประทานเป็นการผสมผสานระหว่างภูเขาและลุ่มน้ำ โดย 3 -4 ปี มานี้ การย้อมผ้าครามมีการเปลี่ยนแปลงไปมากจากเดิมที่เป็นแค่ผ้าพันคอ ตอนนี้ก็มีการพัฒนาเป็น สบู่ กระเป๋า ที่คาดผม ส่วนทิศทางผ้าครามในอนาคตคิดว่าจังหวัดสกลนครมีศักยภาพพอที่จะเป็นแหล่งผลิตผ้าครามอันดับต้นๆของโลก เพราะมีสีสวยและเป็นที่ยอมรับจากชาวยุโรปและญี่ปุ่น  ทั้งนี้มองว่าอาชีพย้อมผ้าครามไม่ใช่การสร้างรายได้เสริมเท่านั้น แต่เป็นการสร้างความภาคภูมิใจของเรา ครามถือว่าเป็นอัตตลักษณ์ของชาวสกลนคร





ส่วนการทำน้ำหมักเม่าที่เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของชาวสกลนคร นางสาวสุดารัตน์ สกุลคู อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตสกลนคร กล่าวว่า ชาวสกลนครเห็นว่าเม่ามีความโดดเด่น จึงนำมาทำเป็นน้ำหมักเม่า ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเพราะว่าเม่ามีสีสวยรสชาติดีและมีสรรพคุณมากมาย ปัจจุบันได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเม่าขึ้นมาหลากหลาย เช่น ไวน์ แยม  เครื่องสำอาง ซึ่งไวน์โด่งดังมากในช่วงการประชุมโอเปค ทำให้เกิดโรงงานผลิตไวน์ขึ้นมาจำนวนมาก ถือว่าเม่าเป็นพืชท้องถิ่นที่นำไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืนของชาวสกลนคร



ด้านรองศาสตราจารย์ดร.เฉลิมชัย ปัญญาดี โครงการกิจกรรมการท่องเที่ยวบนเส้นทางความหลากหลายทางชีวภาพ Bio Tourism ข้าว-เม่า-คราม ของจังหวัดสกลนคร ระบุว่า จังหวัดสกลนครมีศักยภาพทางชีวภาพสูง แต่นักท่องเที่ยวไม่ค่อยมีใครทราบ ดังนั้นต้องหาแนวทางนำเสนอของดีประจำจังหวัดสกลนครเพื่อเผยแพร่ออกไป โดยการนำเสนอของดีจะต้องเชื่อมโยงเข้ากับเส้นทางการท่องเที่ยวด้วย เช่น ร้านอาหาร ที่พัก ส่วนปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ ต้องมาจากความร่วมมือของชาวสกลนคร ที่ควรช่วยกับขับเคลื่อนกิจกรรมในเส้นทางการท่องเที่ยว รวมถึงควรสร้างแบรนด์ของแต่ละชุมชนให้เป็นที่รับรู้



ผู้สื่อข่าว:ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ



 



 

ข่าวทั้งหมด

X