ชมวิธีย้อมผ้าคราม โอทอปขึ้นชื่อเมืองสกลนคร ท่องเที่ยวบนความหลากหลายทางชีวภาพ

01 มีนาคม 2560, 20:45น.


การเดินทางท่องเที่ยว  ที่มีเรื่องราวความหลากหลายทางชีวภาพและเชื่อมโยงกับเส้นทางการท่องเที่ยว โดย ช่วงเย็นนี้สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(องค์การมหาชน)หรือ สพภ.ได้พามาเยี่ยมชม กลุ่มวิสาหกิจบ้านกุดแฮดและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านอูนดง  นางสาววรรณิภา ศรีมุกดา ประธานศูนย์การเรียนรู้การใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น กล่าวว่า เดิมชุมชนนี้มีชาวกะเลิงสัญชาติลาวอพยพเข้ามา และส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพ เกษตรกร ทำให้มีเหงื่อไหล่และร้อน ตลอดทั้งวัน บรรพบุรุษจึงคิดวิธีย้อมผ้าครามเพื่อใช้ในการทำงาน เพราะผ้าครามไม่ทำให้ร้อนแถมยังสามารถซับเหงื่อได้ด้วย   โดยจะสืบทอดการย้อมผ้าครามให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้เรียนรู้ เพราะอยู่ในสายเลือด หากทิ้งไปคงไม่ได้ โดยมองว่า สิ่งที่ได้มา ซึ่งความล่าช้า แต่มาจากใจและความรัก ฝีมือจะออกมาดีส่วนความเป็นมานั้น เริ่มตั้งแต่บรรพบุรุษนิยมแต่งกายด้วยเสื้อเย็บมือสีครามที่ย้อมจากต้นครามจากฝีมือชาวชุมชนเอง จนกระทั่งรวมตัวกันผลิตสินค้าจากต้นครามมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันสามารถผลิตออกมาไดเหลายรูปแบบ เช่น  เสื้อ กระโปรง ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋า กลายเป็นสินค้าโอทอป ประจำจังหวัดสกลนคร 





ส่วนขั้นตอนการย้อมผ้าคราม เริ่มต้นจากกการนำต้นครามมามัดเป็นกำๆแช่1คืน  และแก้มัดออก ผสมปูนแดงลงไปตามสัดส่วน แล้วกวนให้เป็นฟอง และกวนจนกว่าฟองจะยุบ ทิ้งไว้ประมาณ5-6ชั่วโมง  จากนั้นเทน้ำทิ้ง ให้เหลือเฉพาะเนื้อคราม เพื่อนำไปกรองในผ้าขาว จึงแขวนทิ้งไว้1คืน ขณะเดียวกันให้แช่เส้นฝ้ายไว้ 1 คืนเช่นกัน  แล้วทุบให้เส้นฝ้ายนุ่มฟูเพื่อการดูดซึมที่ดี จากนั้นบิดพอหมาดๆ นำลงย้อมในหม้อครามที่ผสมจากน้ำด่างจากขี้เถ้า น้ำซาวข้าวต้มสุก น้ำ มะขามเปียก โดยก่อนย้อมต้องตักน้ำครามออกจากหม้อครามดังกล่าวก่อน1 ขัน เพื่อนำมาเชื้อในการย้อมครั้งต่อไป ส่วนการย้อมจะคั้นหรือขยำด้วยมือ ประมาณ 5 นาที จากนั้นนำขึ้นจากหม้อ บิดน้ำครามออกและนำไปผึ่งลมให้แห้งพอหมาดๆ แล้วนำไปแช่น้ำปูนใส ประมาณ 10 นาที จึงล้างออกให้สะอาด และตากให้แห้งไว้  ก็จะได้ผ้าครามสีสดใสเตรียมเข้าสู่กระบวนการทอต่อไป





ส่วนที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านอูนดง ก็มีความโดดเด่นในเรื่องการย้อมผ้าครามไม่แพ้กัน โดยมีกระบวนการผลิตบนพื้นฐานการอนุรักษ์  นางสาวสุนีย์ พร้อมโกมล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านอูนดง เปิดเผยว่า ชุมชนแห่งนี้เกิดจากเมื่อปี2540 สมาชิกจาก4หมู่บ้านได้รวมตัวกัน ทำฝ้ายจากมือ,ย้อมผ้าคราม และช่วยกันขายผ่านพ่อค้าคนกลาง จนกระทั่งปี2556ตนเข้ามาจัดการบริหารให้เป็นระเบียบมากขึ้น เช่น การสต็อกสินค้าหรือขายสินค้า ต้องมีลายเซ็นจากสมาชิกชุมชนทุกครั้ง พร้อมกับตอบแทนสมาชิกด้วยการแบ่งเงินปันผลส่วนหนึ่งให้ อีกทั้งเดิมการย้อมผ้าครามเป็นเพียงรายได้เสริมเท่านั้น โดยตั้งแต่ปี2558 สพภ.เข้ามาสนับสนุนชุมชน เช่น การสร้างเว็บไซต์ ทำเฟซบุค เพื่อจำหน่ายสินค้า ก็ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นทุกปี  จนกลายเป็นอาชีพหลักแล้ว ส่วนการบริหารจัดการจะกำชับสมาลิกว่าสินค้าต้องได้ตรงตามมาตรฐาน โดยก่อนส่งออกไปจำหน่ายจะมีกรรมการตรวจสอบทุกครั้ง ขณะนี้ชุมชนส่งผ้าย้อมครามไปที่ร้านครามสกล รวมถึงส่งไปที่บริษัทพ่อค้าคนกลาง เพื่อส่งไปขายที่อังกฤษ เยอรมัน และญี่ปุ่นอีกทีหนึ่งด้วย





นอกจากนี้สพภ.ยังพาไปยังพิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม ป้าไท้ บ้านหนองแข้ อำเภอโคกศรีสุพรรณ  ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในเส้นทางการท่องเที่ยวของจังหวัดสกลนคร จากเดิมสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนพสกนิกรบ้านหนองแข้ และพระองค์เคยคลุมไหมมัดหมี่สีม่วงแก่นางไท้ เพื่อใช้เป็นแบบในการทอผ้า  ดังนั้นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯและ ชาวบ้านจึงจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์บ้าน “ป้าทุ้ม-ป้าไท้"ขึ้นมาเพื่อให้บุคคลภายนอกได้ศึกษาพระราชกรณียกิจของพระองค์และกระบวนการทอผ้าอีกด้วย



 



ผสข. ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ

ข่าวทั้งหมด

X