การแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรี ว่าด้วยแผนความช่วยเหลือสำหรับแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ โดย พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี กล่าวปาฐกถา เรื่อง “ยุทธศาสตร์และแนวคิดความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหายาเสพติด” โดยมี นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. และผู้แทนจากประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 5 ประเทศ เข้าร่วมการประชุม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 - 2 มีนาคม 2560 ณ โรงแรม แชงกรีลา จังหวัดเชียงใหม่
นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ผู้แทนจากประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 5 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม พร้อมด้วยประเทศ/องค์กรผู้ให้ 11 ประเทศ/องค์กร อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน เยอรมัน เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สำนักงานเลขาธิการแผนโคลัมโบ และสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้ร่วมหารือ/กำหนดแผนความช่วยเหลือ สำหรับแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ โดยประเทศ/องค์กรผู้ให้ได้แสดงเจตจำนง และร่วมสนับสนุนการดำเนินงานโครงการต่างๆ ของไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการแก้ไขปัญหายาเสพติด หลายประเทศได้แสดงเจตจำนงสนับสนุน บนหลักการความเป็นหุ้นส่วนและการแบ่งปันความรับผิดชอบระหว่างประเทศผู้ให้และประเทศผู้รับ โดยจะสนับสนุนประเทศผู้รับ ทั้งด้านการฝึกอบรมเพิ่มทักษะ/ศักยภาพที่สนับสนุนการทำงานด้านต่างๆ เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย การพัฒนาศักยภาพด้านการสืบสวนสอบสวน การตรวจค้น การวิเคราะห์ด้านนิติวิทยาศาสตร์ การวิเคราะห์ข่าวกรอง รวมถึงการสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์อื่นๆ เช่น เรือลาดตระเวน ให้กับประเทศผู้รับ เพื่อใช้ในภารกิจโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย และใช้ในแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนุภูมิภาคนี้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
ปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ปัญหายาเสพติดของภูมิภาคและของโลก ความร่วมมือและการบูรณาการร่วมกันของประเทศในระดับอนุภูมิภาคและระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยในปี 2556 จีนได้ริเริ่มโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย และในปี 2558 ประเทศไทยได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยขึ้นและรับเป็นเจ้าภาพในการดำเนินงานในปีนั้น ซึ่งถือเป็นตัวอย่างของการปฏิบัติการร่วมกันของ 6 ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง (ไทย จีน เมียนมา ลาว กัมพูชาและ เวียดนาม) เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ โดยในช่วงที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการดำเนินงานอย่างดียิ่ง มีการจับกุมยาเสพติดและสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดได้เป็นจำนวนมาก และเพื่อให้บรรลุผล ทั้ง 6 ประเทศต่างเห็นพ้องกันที่จะกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานให้ชัดเจน โดยเน้นไปที่แหล่งผลิตยาเสพติดในสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งถือเป็นต้นตอที่สำคัญที่สุดของปัญหายาเสพติดในภูมิภาคและของโลก โดยเรียกแผนปฏิบัติการนี้ว่า “แผนปฏิบัติการสามเหลี่ยมทองคำ”